ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

ธรรมยาตรา ๔๐๐,๐๐๐ องค์ ในพุทธกาล


ธรรมยาตรา ๔๐๐,๐๐๐ องค์ ในพุทธกาล หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลในพระไตรปิฎก ก็ยากนักที่จะทราบว่า...
ในครั้งพุทธกาลมีธรรมยาตราครั้งยิ่งใหญ่ ที่สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงหมื่นโลกธาตุ !!!
ผู้เขียนเข้าใจความรู้สึกดีนะว่า หากผู้อ่านไม่ชอบวัดพระธรรมกาย แล้วจะให้มาเออออ..ห่อหมก...กับกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ ที่วัดจัดขึ้นนั้นเป็นเรื่องยากมาก
แต่บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้ใครหันกลับมารักวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้เขียนอยากให้ลองมาศึกษาข้อมูลในพระไตรปิฎกไปด้วยกัน
เผื่อในอนาคตเกิดสนใจอยากศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง หรือคิดจะไปร่วมกิจกรรมธรรมยาตรากับวัดอื่น ๆ ก็จะได้เห็นถึงอานิสงส์และประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเองและพระพุทธศาสนาโดยรวม
สืบเนื่องจากการที่มีบางคนไม่ชอบวัดพระธรรมกาย และพอช่วงวัดจัดธรรมยาตราทีไร ก็มักจะมีกระแสดรามา (Drama) ถามในเรื่องเดิม ๆ วน ๆ เข้ามาว่า..จัดอีกแล้วหรือ ? ทำไมไม่ไปเดินในป่า ?
ทั้ง ๆ ที่ธรรมยาตราเป็นพุทธประเพณีที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล
แล้วที่สำคัญ…การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จนำพระภิกษุธรรมยาตราเข้าเมืองในหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นกุศโลบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลและได้ผลที่สุดวิธีหนึ่ง !!!
เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในป่า ถ้าจะให้เข้าป่า..ก็คงเจอแต่สิงสาราสัตว์ ฉะนั้นหากพระพุทธองค์ทรงต้องการจะเทศน์โปรดคนจำนวนมาก ๆ ในคราวเดียวกัน ก็เป็นธรรมดาที่จะเสด็จเข้าเมืองดังในหลาย ๆ ครั้งที่ปรากฏ เช่น... ทรงนำพระภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป ธรรมยาตราเข้ากรุงราชคฤห์ไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมือง ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้พระเจ้าพิมพิสาร ชาวเมืองและเหล่าเวไนยสัตว์บรรลุธรรมถึง ๘๔,๐๐๐ ชีวิต และเป็นเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวัน ซึ่งถือเป็นการกำเนิดวัดแรกในพระพุทธศาสนา และผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่มากไปกว่านั้นก็คือ ข่าวการธรรมยาตราที่ทำให้คนบรรลุธรรมขนาดนี้ได้แพร่สะพัดขจรขจายล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าสุทโธทนะ (พระบิดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) จึงเป็นเหตุให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งทูตมากราบนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนทำให้เกิดธรรมยาตราครั้งยิ่งใหญ่กว่าเดิม คือ พระพุทธองค์ทรงนำพระภิกษุมากถึง ๒๐,๐๐๐ รูป ธรรมยาตราไปโปรดพระประยูรญาติและชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ
ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะ พระประยูรญาติ ชาวเมือง และเหล่าเวไนยสัตว์บรรลุธรรมถึง ๘๔,๐๐๐ ชีวิต (อ่านเพิ่มเติมที่ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์ ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้ว)
นอกเหนือจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงนำพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลี ผลลัพธ์ก็คือ ภัยพิบัติหมดไป มีเหล่าเวไนยสัตว์บรรลุธรรมถึง ๘๔,๐๐๐ ชีวิต (อ่านเพิ่มเติมที่ อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร)
และที่พิเศษสุดไปกว่านั้น... ยังมีธรรมยาตราที่ยิ่งใหญ่มากอีกครั้งที่หลายคนไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ธรรมยาตราครั้งนี้มีผลกระทบถึงคนทั้งโลกที่นับถือพระพุทธศาสนาในขณะนี้
เพราะธรรมยาตราที่จะกล่าวถึงนี้ ส่งผลต่อการบังเกิดขึ้นของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา !!! ซึ่งธรรมยาตราครั้งนี้ ก็คือ ครั้งที่พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จนำเหล่าพระอรหันต์ ๔๐๐,๐๐๐ องค์
ธรรมยาตราจาริกเข้าไปในเมืองรัมมนคร จนชาวเมืองปลื้มปีตีโกลาหลแห่กันไปเข้าเฝ้า อีกทั้งยังทูลนิมนต์เพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น จากนั้นชาวเมืองก็รีบตระเตรียมมหาทานและประดับตกแต่งหนทางเสด็จกันอย่างอลังการ
ตั้งแต่ทำพื้นดินให้ราบเรียบ โรยทรายอันมีสีดังแผ่นเงิน โปรยข้าวตอกดอกไม้ เอาผ้าย้อมสีต่าง ๆ ประดับเป็นธงทิวปลิวไสว ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำเรียงเป็นแถวตามหนทาง
ครั้นเมื่อสุเมธดาบสเหาะผ่านมาเห็น จึงเกิดความประหลาดใจ แล้วเข้าไปถามชาวเมืองจนทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธองค์
จึงขอแบ่งพื้นที่จากชาวเมือง เพื่อตนจะได้ถมตกแต่งทำหนทางถวายการต้อนรับพระพุทธองค์ด้วย
แต่ขณะที่สุเมธดาบสยังถมทางที่เป็นหลุมเป็นเปือกตมยังไม่เสร็จ พระพุทธองค์และเหล่าพระอรหันต์ทั้ง ๔๐๐,๐๐๐ องค์ ก็กำลังมาถึง
ทำให้สุเมธดาบสเห็นถึงความอัศจรรย์ของพระวรกายของพระพุทธองค์ที่งดงามด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ อีกทั้งพระวรกายยังเปล่งพระพุทธรัศมีด้านละวา ทำให้สุเมธดาบสเกิดจิตเลื่อมใสอย่างท้วมท้น
และคิดว่า..วันนี้เราจะถวายชีวิตโดยการสละกายนอนทอดร่างให้พระพุทธองค์ทรงเหยียบผ่านไปพร้อมกับพระอรหันต์ ๔๐๐,๐๐๐ องค์ โดยมิให้ทรงเหยียบเปือกตม เพื่อเอาบุญนี้ตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้าให้จงได้
ด้วยผลบุญนี้ พระพุทธเจ้าทีปังกรจึงใช้
พระอนาคตังสญาณตรวจตราและพยากรณ์ว่า อีกสี่อสงไขยกับอีกแสนกัป สุเมธดาบสท่านนี้จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม...
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ ทั้งผืนดิน ผืนน้ำ ทุกพิภพเกิดการสะเทือนเลื่อนลั่น บรรดาสรรพสัตว์ต่างแห่กันออกมา เหล่าเทวดาทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุต่างสาธุการด้วยความยินดีปรีดา ไฟนรกในหมื่นโลกธาตุดับ มีน้ำพวยพุ่งขึ้นจากแผ่นดิน ฯลฯ
และที่วิเศษไปกว่านั้น มหาชนจำนวนมหาศาลต่างปลื้มปริ่มและมีความหวัง ตั้งความปรารถนาอธิษฐานจิตว่า..ถ้าเราไม่บรรลุธรรมในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกร ก็ขอให้เราบรรลุธรรมในยุคของพระสมณโคดมในภายภาคหน้าด้วยเถิด
(อ่านเพิ่มเติมที่ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ (ฉบับมหาจุฬาฯ) ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก ๒. สุเมธกถา ว่าด้วยสุเมธดาบส, อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน, อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ)
ลองคิดดูเถิด..การที่พระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จธรรมยาตรานำพระอรหันต์มากถึง ๔๐๐,๐๐๐ องค์ เข้าเมืองในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่มีคุณอนันต์แก่โลก
และจักรวาลนี้มากขนาดไหน เพราะทำให้สุเมธดาบสในครั้งนั้นได้มาบังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งนี้ ที่เราได้มาพึ่งคำสอนของพระพุทธศาสนาในยุคพระองค์ท่าน
มากไปกว่านั้น... ธรรมยาตราครั้งนี้ ยังเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งได้มาเจอกับว่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต และการเจอกันในครั้งนี้
ก็เป็นการเปลี่ยนภูมิของสุเมธดาบสจากอนิยตโพธิสัตว์ขึ้นเป็นนิยตโพธิสัตว์ ซึ่งก็คือ พระโพธิสัตว์ที่รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า และจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตแน่ ๆ
เห็นไหมว่า ธรรมยาตราแต่ละครั้งเกิดสิ่งดีงามขึ้นบนโลกใบนี้มากมาย เพราะการเห็นพระจำนวนมาก ๆ มาสร้างกุศลกรรม ถือเป็น ทัสนานุตริยะ ซึ่งหมายถึง การเห็นที่ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย
เป็นการเห็นที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์ และเพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน คือ เมื่อเห็นแล้วเราจะอยากประกอบกุศลกรรมที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะชั่วแว็บเดียวที่เราเกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างท่วมท้นแล้วอธิษฐานจิต
มันเปลี่ยนผังชีวิตเรานับจากนั้นเลยทีเดียว ซึ่งในอนาคตคนคนนั้นอาจเป็นเราก็ได้ ใครจะไปรู้... (อ่านเพิ่มเติมที่ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ๑๐. อนุตตริยสูตร)
เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๒๐๕ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓

ไม่มีความคิดเห็น