ชาดก (Jataka) เป็นส่วนหนึ่งในพระสูตรหรือพระสุตตันตปิฎก ชาดกทั้งหมดมี 550 เรื่อง 10 เรื่องสุดท้าย เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือเรียกว่า ทศชาติชาดก ซึ่งเป็นชาดกที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันดี โดยกล่าวถึง 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์
สำหรับชาดกทั้ง 10 เรื่องนี้ เพื่อให้จำง่าย จึงมักนิยมท่องโดยใช้พยางค์แรกของแต่ละชาติ คือ เต - ชะ - สุ - เน - มะ - ภู - จะ - นา - วิ - เว โดยชาดกในเรื่องต่าง ๆ จะมีเรื่องย่อพอสังเขป ดังนี้ ชาติที่ 1 เตมียชาดก (เต)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ การออกบวช หรือ ออกจากกาม โดยเล่าเรื่องของเตมียราชกุมาร ซึ่งเกรงการที่จะได้ครองราชสมบัติ เพราะทรงสลดพระหฤทัยที่เห็นราชบุรุษลงโทษโจรตามพระราชดำรัสของพระราชา เช่น เฆี่ยนพันครั้งบ้าง เอาหอกแทงบ้าง เอาหลาวเสียบบ้าง จึงใช้วิธีแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดลองต่าง ๆ ก็ไม่ยอมแสดงอาการพิรุธให้ปรากฏ เพื่อจะเลี่ยงการครองราชสมบัติ
จากนั้นเมื่อพระราชาปรึกษาพวกพราหมณ์ ก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้นำราชกุมารไปฝังเสีย ด้านพระราชมารดาที่ทรงคัดค้านไม่สำเร็จ ก็ทูลขอให้พระราชกุมารครองราชย์สัก 7 วัน แต่พระราชกุมารก็ไม่ยอมพูด ต่อเมื่อ 7 วันแล้ว สารถีนำราชกุมารขึ้นสู่รถเพื่อนำไปฝังตามรับสั่งพระราชา ขณะที่ขุดหลุมอยู่พระราชกุมารก็เสด็จลงจากรถ ตรัสปราศรัยกับนายสารถี แจ้งความจริงให้ทราบว่า มีพระประสงค์จะออกบวช สารถีเลื่อมใสในคำสอนขอออกบวชด้วย จึงตรัสให้นำรถกลับไปคืนก่อน สารถีนำความไปเล่าถวายพระราชมารดา พระราชบิดาให้ทรงทราบ
ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารจึงได้เสด็จออกไปหา เชิญให้พระราชกุมารเสด็จกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระราชกุมารกลับถวายหลักธรรมให้ยินดีในเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม พระชนกชนนีพร้อมด้วยบริวารทรงเลื่อมใสในคำสอน ก็เสด็จออกผนวชและบวชตาม กระทั่งมีพระราชาอื่นอีกเป็นอันมาก ที่ได้สดับพระราชโอวาทและขอออกผนวชตามเช่นกัน ชาติที่ 2 มหาชนกชาดก (ชะ)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี คือ ความพากเพียร ใจความสำคัญ คือ พระชนกกุมาร โอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์เมืองมิถิลา ขณะที่เสด็จลงสำเภาไปค้าขาย เกิดพายุใหญ่เรือแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรถึง 7 วัน นางเมขลาเห็นจึงพูดลองใจว่า ให้พระองค์ยอมตายเสียตามบุญตามกรรม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟัง ยังพยายามว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ตามเดิม เมื่อนางเมขลาเห็นดังนั้น จึงเกิดเลื่อมใสในความพยายาม จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง ก่อนที่พระองค์จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองมิถิลา กระทั่งได้ครองราชสมบัติในที่สุด ชาติที่ 3 สุวรรณสามชาดก (สุ)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ การแผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า มีเรื่องเล่าว่า สุวรรณสามเลี้ยงมารดาบิดาของตนซึ่งเสียจักษุในป่า และเนื่องจากเป็นผู้เมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น ทำให้มีบรรดาสัตว์มากมายแวดล้อมไปในที่ต่าง ๆ วันหนึ่งพระเจ้ากรุงพาราณสีชื่อปิลยักษ์ ยิงสุวรรณสามด้วยธนู เนื่องจากเข้าพระทัยผิด จนเป็นเหตุให้สุวรรณสามถูกพิษที่ธนูจนสิ้นสติ ภายหลังเมื่อทราบว่า สุวรรณสามเป็นมาณพผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็สลดพระทัย จึงไปนำมารดาบิดาของสุวรรณสามมา
จากนั้น เมื่อมารดาบิดาของสุวรรณสามตั้งสัจจกิริยา อ้างคุณความดีของสุวรรณสาม ขอให้พิษของศรหมดไป กระทั่งสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา และได้สอนพระราชา แสดงคติธรรมว่า ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม แม้เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น ย่อมมีคนสรรเสริญในโลกนี้ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็ บันเทิงในสวรรค์ เมื่อพระราชาขอให้สั่งสอนต่อไปอีก ก็สอนให้ทรงปฏิบัติธรรมปฏิบัติชอบในบุคคลทั้งปวง ชาติที่ 4 เนมิราชชาดก (เน)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอธิฏฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นคง มีเรื่องเล่าว่า เนมิราชกุมารได้ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากพระราชบิดา ทรงบำเพ็ญคุณงามความดี เป็นที่รักของมหาชน และในที่สุดเมื่อทรงพระชราก็ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส พระองค์ก็เสด็จออกผนวชเช่นเดียวกับที่พระราชบิดาของพระองค์เคยทรงบำเพ็ญมา ชาติที่ 5 มโหสถชาดก (มะ)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความรู้ทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้ มีเรื่องเล่าว่า มโหสธบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้สามารถแนะนำในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ จนสามารถเอาชนะที่ปรึกษาอื่น ๆ ที่ริษยาใส่ความได้ และด้วยความดีที่ไม่พยาบาทอาฆาต มโหสธบัณฑิตจึงสามารถใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู และจับราชศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้ ชาติที่ 6 ภูริทัตชาดก (ภู)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญศีลบารมี คือ การรักษาศีล มีเรื่องเล่าว่า ภูริทัตนาคราชไปจำศีลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ยอมอดทนให้หมองูจับไปทรมานต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถจะทำลายหมองูได้ด้วยฤทธิ์ ทว่า ภูริทัตตนาคราชยังคงยึดมั่นต่อศีลของตน จนในที่สุดภูริทัตตนาคราชก็ได้อิสรภาพดังที่ปรารถนา ชาติที่ 7 จันทชาดก (จะ)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทน มีเรื่องเล่าว่า จันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิดาจารย์รับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเลื่อมใสเปล่งสาธุการ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในพระราชกุมาร
ในเวลาต่อมา พระเจ้าเอกราชทรงพระราชสุบินเห็นดาวดึงเทวโลก เมื่อตื่นบรรทมทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก จึงตรัสถามกัณฑหาลพราหมณ์ เป็นโอกาสให้พราหมณ์แก้แค้นด้วยการกราบทูลแนะให้ตัดพระเศียรพระโอรสธิดา เป็นต้นบูชายัญ พระเจ้าเอกราชที่เป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรส 4 พระองค์ และคนอื่น ๆ เพื่อเตรียมประหารเช่นกัน แม้ใครจะทัดทานขอร้องก็ไม่ได้ผล ร้อนถึงท้าวสักกะ (พระอินทร์) ต้องมาข่มขู่ และชี้แจงให้หายเข้าใจผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ประโรหิตนั้น และเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจันทกุมารขึ้นครองราชย์แทน ชาติที่ 8 นารทชาดก (นา)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การวางเฉย มีเรื่องเล่าว่า พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวมหาพรหม นามว่า พระนารทะ ได้จำแลงกายเป็นนักบวชมาแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนพระเจ้าอังคติ กษัตริย์นครมิถิลา ที่เคยปกครองบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ทรงศีลอุโบสถตลอดมา จนวันหนึ่งได้สนทนาธรรมกับนักบวชชีเปลือยคุณาชีวกะ ทำให้เกิดหลงผิด ละเว้นการรักษาศีลทำทานเสียสิ้น หันมาโปรดปรานมหรสพรื่นเริง ไม่สนใจกิจการของบ้านเมือง และเมื่อพระเจ้าอังคติได้ฟังคำสั่งสอนของพระนารทะมหาพรหม ว่าการกระทำสิ่งใดควรมีอุเบกขา คือ การวางใจเป็นกลาง ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ เมื่อเห็นว่าสิ่งใดดีมีประโยชน์จึงเชื่อ และปฏิบัติตาม กระทั่งพระเจ้าอังคติสามารถกลับมาตั้งมั่นในทศพิธราชธรรมได้ดังเดิม ชาติที่ 9 วิธูรชาดก (วิ)
ชาดกเรื่องนี้เสดงถึงการบำเพ็ญสัจจบารมี คือ ความสัตย์ มีเรื่องเล่าถึงวิธูรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนัก พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเป็นผู้ที่พระราชาและประชาชนรักใคร่เคารพนับถือมาก ครั้งหนึ่ง ปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเล่นสกา ถ้าตนแพ้จักถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ก็จะพระราชทานทุกสิ่งที่ต้องการ ยกเว้นแต่พระกายของพระองค์ ราชสมบัติ และพระมเหสี ในที่สุดพระราชาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทูลขอตัววิธูรบัณฑิต ซึ่งพระราชาจะไม่พระราชทานก็เกรงเสียสัตย์ พระองค์ตีราคาวิธรบัณฑิตยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการต่าง ๆ ก่อนไต่ถามให้วิธรบัณฑิตตัดสิน
ทางด้านวิธรบันฑิต เมื่อได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ก็ได้ตัดสินให้พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะรักษาสัตย์ คือ ตนเองยอมไปกับยักษ์ ทั้งที่ความจริงแล้วยักษ์ต้องการเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิธูรบัณฑิตไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งเป็นอุบายของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรมของวิธูรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจของวิธูรบัณฑิตมา ทว่า แม้ยักษ์จะทำอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้วิธูรบัณฑิตตายได้ ต่อมาวิธูรบัณฑิตได้แสดงสาธุนรธรรม (ธรรมของคนดี) ให้ยักษ์เลื่อมใส และได้แสดงธรรมแก่พญานาค และในที่สุดวิธูรบัณฑิตจึงได้กลับมาสู่กรุงอินทปัตถ์ดังเดิม ชาติที่ 10 เวสสันดรชาดก (เว)
ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมี คือ การบริจาคทาน มีเรื่องเล่าถึงพระเวสสันดรผู้ใจดีบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งพระเวสสันดรได้ประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธแค้นและขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมือง ดังนั้นพระราชบิดาจึงจำพระทัยต้องสั่งเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยพระโอรสธิดาได้ตามเสด็จพระเวสสันดรไปด้วย
ในเวลาต่อมา เมื่อชูชกไปของสองกุมาร พระเวสสันดรก็ยังประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาของพระเวสสันดรจึงทรงตามไปไถ่สองกุมาร และเสด็จไปรับกลับกรุง ซึ่งเรื่องนี้แสดงถึงการเสียสละส่วนน้อยเพื่อมุ่งไปสู่ประโยชน์ส่วนใหญ่ คือ การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทางให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้ดียิ่ง มิใช่เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล
Cr : เพจ IPeace Meditation Centre
ไม่มีความคิดเห็น