โรงเรียนแม่พริกวิทยา อ.แม่พริก จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในโรงเรียนจาก 80 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ “เด็ก don’t drive : 15 ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” ของสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการสร้างเยาวชนแกนนำจัดกิจกรรมรณรงค์ลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนตร์มาโรงเรียนและหลังเลิกเรียนในเด็กวัยก่อน 15 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยการทำโครงการเชิงรุกทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน
เสน่ห์ เอื้อแท้ ครูโรงเรียนแม่พริกวิทยา |
เสน่ห์ เอื้อแท้ ครูโรงเรียนแม่พริกวิทยา บอกว่า เนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างจากชุมชนเกือบ 10 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางมาโรงเรียนค่อนข้างลำบาก บางส่วนมีรถรับส่งก็ดีไป แต่เด็กบางส่วนจะขับมอเตอร์ไซค์มาเอง ซึ่งน่าเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยอย่างมาก เพราะโรงเรียนอยู่ติดถนนใหญ่ มีปริมาณรถมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นทางโรงเรียนแม่พริกจึงมาเข้าร่วมโครงการ “เด็ก don’t drive : 15 ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” เพื่อรณรงค์ให้เด็กไม่ต้องนำรถมาโรงเรียน จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และเถลไถลไปไหนทั้งก่อนและหลังเลิกเรียน โดยทางโรงเรียนจะทำประชามติร่วมกันว่า ไม่อนุญาตให้นักเรียนอายุไม่ถึง 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์มาโรงเรียน จะอนุญาตให้เฉพาะมัธยมปลายที่อายุเกิน 15 ปี มีใบขับขี่ และต้องมาลงทะเบียนกับทางโรงเรียนเท่านั้น
ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กิจกรรม“พริกขี้หนูรวมใจทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน” เช่น การประกวดคำขวัญ การประกวดวาดภาพระบายสี ประกวดคำขวัญสามคำโดนใจ การทำคลิปหนังสั้น การจัดเสียงตามสายช่วงเวลาพักภายในโรงเรียน การขอรับการสนับสนุนภาคีเครือข่าย ตำรวจ รพ.สต. เป็นต้น มาจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง
การส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดได้ลงมือทำ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของวัยรุ่นสู่วัยรุ่น จึงน่าจะช่วยรณรงค์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ประสบผลสำเร็จมากกว่าการคิดจากผู้ใหญ่ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจในวัยรุ่นเท่าที่ควร “เรามาทำโครงการ อยากให้เขาตระหนัก แรกๆ ก็ถามกลับว่าทำไมต้องไม่ให้เด็กขับด้วย เราก็บอกเหตุผล ถ้าเด็กขับมอเตอร์ไซค์ออกจจากบ้านไปเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญมอเตอร์ไซค์มักนำพาเด็กไปหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น มั่วสุม ยาเสพติด ผู้ปกครองก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ เราจึงหาทางเลือกให้ เขาจะเสียสละเวลามาส่งลูกหลานหรือขึ้นรถรับส่งก็ได้ จากที่เคยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนเกือบ 30 คน ตอนนี้ไม่มีแล้ว” ครูเสน่ห์ กล่าว
การทำกิจกรรมเชิงรุก เข้าถึง ทั้งที่โรงเรียนและชุมชน คือกลยุทธ์เด็ดที่ทำให้ทุกคนได้ตระหนักที่สิ่งที่เคยละเลย หรือไม่รู้มาก่อน
|
ครูเสน่ห์ อธิบายถึงการทำงานเชิงรุกนี้ ว่า มีการเดินรณรงค์ในชุมชน ตามตลาดนัดวันอังคาร หรือวันพระใหญ่ก็จะมีพระเทศน์ และแกนนำนักเรียนจะเข้าร่วมเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง หรือการประชุมประจำเดือนและกิจกรรมของชุมชนทางโครงการก็จะเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง“เราต้องทำโครงการในเชิงรุก เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จ เพราะเชื่อว่า บ้าน วัด และโรงเรียน “บวร” สามารถสร้างพฤติกรรมการขับขี่ และสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ได้” ครูเสน่ห์ ยืนยัน
ที่ขาดไม่ได้ คือ น้องๆ เยาวชนแกนนำโครงการที่เป็นตัวแทนของเสียงเล็กๆ ส่งผ่านไปถึงผู้ปกครองและชุมชน และยังนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการ ทั้งการทำสื่อสมัยใหม่ และการจัดตั้งเพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มพลังพริกขึ้หนู MPW” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารของโครงการ
กนกพร นากสุก หรือ น้องพลอย |
กนกพร นากสุก หรือ น้องพลอย เยาวชนแกนนำกลุ่มพลังพริกขึ้หนู MPW เธอเห็นว่า ปัจจุบันทุกคนอยู่แต่หน้าจอมือถือ ดูเฟสบุ๊ก ดูไลน์ เธอจึงคิดว่า น่าจะเอาความเคลื่อนไหวของโครงการมาบอกกล่าว มาเผยแพร่ในโซเชี่ยลบ้าง จึงได้จัดตั้งเพจนี้ขึ้นมา“กลุ่มพลังพริกขึ้หนูMPW” (m.p.w don’t drive) เวลาไปอบรม หรือมีสาระน่ารู้ก็จะมาโพสต์เผยแพร่ให้ทุกคนได้ติดตามกัน
“ส่วนการเดินรณรงค์ในตลาดนัดทุกวันอังคาร ก็ช่วยกันถือป้าย แจกแผ่นพับ และพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าและคนที่มาเดินซื้อของ เพราะเห็นว่าเมื่อมีคนมาเดินตลาดนัดมาก การเผยแพร่โครงการน่าทำให้คนรู้มากขึ้น ซึ่งช่วยฝึกความกล้าในการทำงานให้กับพวกเราด้วย หลังจากนี้เราก็จะไปต่อยอดกับโรงเรียนข้างเคียง โดยเฉพาะชั้นประถม ป.5-ป.6” น้องพลอย เล่าการทำงานเชิงรุกแบบเข้าถึงด้วยหลักการ “บวร” ทำให้โครงการ 15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ ของโรงเรียนแม่พริกวิทยา ประสบความสำเร็จ และได้รับคำชื่นชม และช่วยสร้างค่านิยมการขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ดีให้เกิดขึ้นชุมชน
ที่มา www.chiangmainews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น