ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

กรณีพระพิมลธรรม คดีสุดดำมืดของคณะสงฆ์และรัฐบาลไทยในอดีต ได้เกิดขึ้นปี 2561 แล้ว? กับพระมหาเถระ 5 รูป


กรณีพระพิมลธรรม คดีสุดดำมืดของคณะสงฆ์และรัฐบาลไทยในอดีต
ได้เกิดขึ้นปี 2561 แล้ว? กับพระมหาเถระ 5 รูป


*เหตุการณ์อันเป็นจุดเริ่มต้นของ `คดีพระพิมลธรรม‘ เกิดหลังจากพระศาสนโสภณ (จวน อุฏฺฐายี) เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก ในวันที่ 12 พ.ค. 2503 ย้อนไป 7 ปีก่อน พระฝ่ายมหานิกายจำนวน 47 รูป ได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้ทบทวนการแต่งตั้งสังฆมนตรีครั้งนั้น ว่าเป็นการทับเศียรสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกาย ส่งผลให้พระศาสนโสภณต้องลาออกจากตำแหน่ง และในจำนวนพระฝ่ายมหานิกายทั้ง 47 รูปนี้ ปรากฏว่าพระพิมลธรรมเป็นพระเถระที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในจำนวนนั้น

วันที่ 15 พ.ค. 2503 ได้มีใบปลิวเถื่อนออกมาติดไว้ตามวัดต่าง ๆ ข้อความนั้นสรุปได้ว่า "การแต่งตั้งสังฆมนตรีครั้งนี้ไม่ยุติธรรม สมเด็จพระสังฆราชสติไม่สมบูรณ์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์สังฆนายกและเจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ แห่งวัดสามพระยา กำลังคิดจะล้มล้างมหานิกาย เอาธรรมยุตมากดมหานิกาย สมควรให้พ้นจากตำแหน่งแล้วแต่งตั้งกันใหม่"

เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อสงสัยว่าใบปลิวนี้น่าจะมาจากแม่กองธรรม ซึ่งพระพิมลธรรมดูแลควบคุมอยู่ แต่ในที่สุดก็สืบสวนได้ว่าผู้ทำคือพระวัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งไม่เกี่ยวกับพระพิมลธรรมเลย ถึงกระนั้น พ.ต.อ.ชลอ อุทกราชน์ ผู้ควบคุมคดีนี้ ก็ทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสอบสวน ขออนุมัติหมายจับพระพิมลธรรมในข้อหาเกี่ยวกับใบปลิว แต่ พ.ต.อ.เอื้อ เอมปาน ไม่ยอมอนุมัติ เพราะไม่มีหลักฐานพยานใด ๆ เลย


วันที่ 3 ก.ย. 2503 ชาวพุทธต้องตะลึงอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) สังฆนายก ได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า "ทางตำรวจสันติบาลได้นำพยานมายืนยันว่าพระพิมลธรรมเสพเมถุนทางเวจจมรรค ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ไม่ควรดำรงสมณเพศอีกต่อไป"

วันที่ 8 ก.ย. 2503 สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงมีบัญชาถึงพระพิมลธรรมขอให้ออกจากสมณเพศหลบหายตัวไปเสีย และขอให้ปฏิบัติภายในกำหนด 15 วัน พระพิมลธรรมจึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรม และขอสู้คดีจนถึงที่สุด

วันที่ 27 ต.ค. 2503 อธิบดีกรมการศาสนามีหนังสือตอบกลับมาว่า "บัญชาของผู้สูงสุด ย่อมระงับคำสั่งที่ต่ำกว่าเสมอ ขอยืนยันตามบัญชานั้นไม่เปลี่ยนแปลง" แม้พระพิมลธรรมจะมีหนังสือโต้แย้งไปยังสังฆมนตรีว่าการลงโทษครั้งนี้ไม่ถูกต้อง

วันที่ 11 พ.ย. 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เซ็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ถอดพระพิมลธรรมออกจากสมณศักดิ์

วันที่ 20 เม.ย. 2504 ก่อนเที่ยงเล็กน้อย รถวิทยุทั้งกองปราบและสารวัตรทหารมากมาย เข้าล้อมจับพระพิมลธรรมที่กุฏิ ด้วยข้อหากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางเสียงร้องไห้ระงมรอบด้าน แต่พระพิมลธรรมไม่ได้แสดงอาการสะทกสะท้านเลย ในวันเดียวกันสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายก สั่งให้สังฆมนตรีองค์การปกครอง ตามไปจับสึกพระพิมลธรรมที่สันติบาลในค่ำวันนั้น โดยอ้างว่า "เพื่อรักษาความปลอดภัยแห่งชาติและพระศาสนาไว้"

พระพิมลธรรมได้เขียนคำปฏิญาณถึงเจ้าคณะจังหวัดพระนครให้เป็นสักขีพยานด้วยว่า "ตามหนังสือของท่านเจ้าคุณ ฉบับที่ 1 เรื่องขอความกรุณาและขอความเป็นธรรมให้กระผมได้อยู่ต่อสู้คดีในสมณเพศ จนถึงที่สุดเสียก่อน ดังมีพิสดารแจ้งอยู่แล้วนั้น กระผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า ท่านเจ้าคุณก็ดีหรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปก็ดี ไม่เมตตากรุณาให้ความเป็นธรรมแก่กระผมตามที่ได้ขอความกรุณาแล้ว กระผมก็จะขอความกรุณาอีกคือ ไม่ยอมสึกตามข้อบังคับอันไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฏหมายนั้น จะขอยอมเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัยตลอดไปจนถึงที่สุด ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดลุอำนาจเข้าแย่งผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่างกายของกระผมแล้วไซร้ กระผมจะถือว่าท่านผู้นั้นแย่งชิงโดยผิดศีลธรรม และกระผมจะยังปฏิญาณตนเป็นพระภิกษุในศาสนาอยู่ตลอดไป ถึงแม้จะมีผู้ใจทารุณโหดร้ายมาแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งมีกรรมสิทธิตามพระธรรมวินัยและกฏหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณผู้รู้เห็นอยู่ ณ ที่นี้ โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้กระผมตามคำปฏิญาณนี้ด้วย"

จากนั้นพระพิมลธรรมก็นั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้หลับตา มือนับลูกประคำไม่รับรู้ต่อการกระทำของผู้มีอำนาจใด ๆ พระธรรมคุณาภรณ์ผู้ได้รับคำสั่งมาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เดินเข้าไปยกมือไหว้ และพระธรรมมหาวีรานุวัติ สังฆมนตรี วัดไตรมิตร เข้าไปกราบที่ตัก แล้วช่วยกันเปลื้องจีวรออกจากร่างพระพิมลธรรม ซึ่งยังคงสำรวมจิตต่อไป




หลังจาก `จับไว้ก่อน‘ ตำรวจสันติบาลวิ่งหาหลักฐานยื่นฟ้องพระพิมลธรรม แต่ก็หาหลักฐานมายืนยันข้อกล่าวหาไม่ได้ ขอไปทางฝ่ายสงฆ์ซึ่งเป็นฝ่ายยื่นเรื่องให้สันติบาลดำเนินคดีกับพระพิมลธรรม ก็ไม่มีหลักฐานให้ นอกจากพยานอุปโลกน์กันขึ้นมา จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะอธิบดีตำรวจที่สั่งจับไปตามคำเรียกร้องของฝ่ายสงฆ์ ถึงกับกราบทูลถามสมเด็จพระสังราช เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2504 ว่า "...คณะสงฆ์ได้แจ้งก่อนหน้านี้ว่ามีหลักฐานพร้อมมูล แต่จนป่านนี้ไม่มีอะไรมาให้เลย ทำอย่างนี้เกล้ากระหม่อมเสียชื่อมาก..."

ในที่สุดพระพิมลธรรมก็ตกเป็นจำเลยของศาลทหาร เพราะยุคที่จอมพลสฤษดิ์ครองเมือง ได้ประกาศกฏอัยการศึกคลุมไว้ ข้อหาที่ตั้งขึ้นมานั้นสาธุชนทั้งหลายต่างหัวเราะจนขำไม่ออก เช่น ตระเตรียมสถานที่ฝึกอาวุธ เพื่อก่อวินาศกรรมล้มล้างรัฐบาลและการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฯลฯ

ในที่สุดหลังถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2505 ถึงวันที่ 30 ส.ค. 2509 (4 ปีเศษ) ศาลได้พิพากษายกฟ้องพระพิมลธรรมทุกข้อหา และกล่าวยืนยันความบริสุทธิ์ของท่านว่า "...ตามที่ศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้องและกล่าวหามาหลายข้อหลายประเด็นนี้ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ที่พอจะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือน่าจะกระทำผิด การจับกุมคุมขังจำเลยนี้ ย่อมเป็นที่เศร้าหมองและน่าสลดใจในวงการสงฆ์และพุทธศาสนิกชนอย่างมาก"


พ.ท.ประเสริฐ สุดบรรทัด ได้กล่าวเปิดใจว่า "ตามที่จำเลยต้องคดี ได้สืบสวนด้วยตัวเอง ทราบเบื้องหลังมาโดยตลอด แต่จะเบิกความก็เกรงจะเป็นการกระทบกระเทือนแก่วงการพระภิกษุสงฆ์และพระศาสนา ขอสรุปว่ามูลกรณีทั้งหลายตามที่ทราบความจริงมา จำเลยถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมจริง ๆ ไม่ได้กระทำผิดตามกล่าวหา ดังนั้นศาลจึงขอให้จำเลยระลึกว่า เป็นคราวเคราะห์หรือกรรมเก่าของจำเลยเอง หรือมิฉะนั้นก็เป็นบาปกรรมของคนที่มีกิเลส ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด"

จากนั้นคณะศิษย์ของพระพิมลธรรมและภิกษุสามเณรจำนวน 4,580 รูป ได้เข้าชื่อเรียกร้องรัฐบาลขอคืนสมณศักดิ์ให้พระพิมลธรรม แม้ศาลจะชี้ขาดความบริสุทธิ์ของพระพิมลธรรมไปแล้ว แต่ท่านต้องรอต่อไปอีก 8 ปี 6 เดือน จนเมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสนมหาเถร) แห่งวัดราชบพิตร ขึ้นเป็นพระสังฆราช จึงมีประกาศคืนสมณศักดิ์ให้พระพิมลธรรม เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2518 ซึ่งตรงกับรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมเวลาที่ต้องตกอยู่ในห้วงกรรมนานเกือบ 14 ปี

*ได้มีการกล่าวขานกันมากถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใส่ร้ายพระพิมลธรรม ต่างได้รับผลกรรมทั้งสิ้น บ้างก็ทุกข์ทรมานด้วยอัมพาตจนเสียชีวิต บ้างก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เหมือนจะยืนยันว่า `กรรมสนองกรรม‘ ฉะนั้น

จากการศึกษากรณีพระพิมลธรรมนี้ ทำให้เราทราบว่าการกระทำที่ไม่ยุติธรรม เกิดจากผู้ปกครองบ้านเมืองที่ไม่มีศีลธรรม หากพวกเราชาวพุทธไม่ออกมาปกป้องพระภิกษุผู้บริสุทธิ์ แล้วพระพุทธศาสนาจะยังเป็นพระพุทธศาสนาได้อย่างไร คงไม่ต่างอะไรกับการเมือง ที่ใส่ร้ายป้ายสีกันจนประเทศชาติพินาศ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ต่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการรักษาพระพุทธศาสนาและฝากความหวังไว้ให้พวกเราทุกคน ดังกลอนบทหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ว่า

"อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่พระศาสนาสมณพระพุทธโคดม ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี สมณพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม ถวายบังคมรอยบาทพระศาสดา คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา พระพุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน"

ผู้เรียบเรียง "ตั้งอยู่ในธรรม"
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ www.manager.co.th #แชร์ไปได้บุญ

กรณีพระพิมลธรรม ได้เกิดขึ้นปี 2561 แล้ว? กับพระมหาเถระ 5 รูป 

ที่มา www.thairath.co.th


ทฤษฎี ไม่ผิดทำไมไม่ออกมาสู้คดี ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้กับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ขนาดยอมเข้ากระบวนการยุติธรรม แต่ยังไม่ได้เริ่มกลับจับสึกก่อน ถ้าไม่ผิดก็ปล่อยทีหลัง ไอ้คำว่าปล่อยนี่สิ จะกี่ปี หนึ่งปี สองปี สามปี หรือสิบปี (ดูกรณีพระพิมลธรรมเป็นตัวอย่าง)





1 ความคิดเห็น

  1. ระบบยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม แบบนี้เมื่อไหร่จะเลิกเสียที?
    เราเสียพระดีๆไปมากแล้ว ต่อให้ตัดสินว่าไม่ผิด แต่ก็เป็นตราบาป
    ติดตัวไป เสียทั้งเวลา เสียทั้งโอกาสในการทำความดีต่างๆ

    ซึ่ีงเวลาและโอกาสที่ีเสียไป ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ...มันยุติธรรมแล้วหรือ???

    ตอบลบ