ไม่ให้พระรับเงิน...!! รัฐจะต้องรับมืออย่างไร??
หากผู้มีอำนาจต้องการไม่ให้พระรับเงินหรือใช้เงินจริงๆ สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ให้มหาเถรสมาคมประกาศให้ทุกวัดหยุดการก่อสร้าง หยุดตั้งตู้บริจาค หยุดให้ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ฯลฯ
พุธที่ 1 มีนาคม 2560 เวลา 10.00 น.
ท่ามกลางสังคมไทยกำลังตามหา ค้นหาพระดีๆ ตามอุดมคติของ “คนดี” ทั้งหลาย ผมก็แปลกใจไม่น้อยว่าแนวคิดนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ตรงไหน เพราะในแง่ของความเป็นจริง ตลอดชีวิตของผมที่ดำรงอยู่ในสมณเพศเกือบ 20 ปี ยังไม่เคยเห็นพระภิกษุรูปไหนที่ยังไม่ใช้เงินเลย...
ทั้งเพื่อนที่เป็นพระธรรมยุติและมหานิกาย และแนวคิดนี้ผมก็เชื่อยังสนิทใจว่าคงเป็นแนวคิดของ “ผู้ที่ยังไม่เคยเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา” และบางส่วนคงเป็นแนวคิดของคนเอือมระอาพฤติกรรมของพระภิกษุบางรูปมากกว่า และกลุ่มนี้คงเชื่อว่า หากพระไม่ถวายเงินให้พระแล้ว “พระพุทธศาสนา” คงจักบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะมองแบบสุดโต่งว่า “เงินคือต้นเหตุ” ของพฤติกรรมพระนอกลู่นอกทางพระธรรมวินัยบางรูปในปัจจุบัน
ในเชิงโครงสร้าง หากผู้มีอำนาจต้องการไม่ให้พระรับเงินหรือใช้เงินจริงๆ สิ่งแรกที่จะต้องทำนั้นก็คือ 1.ต้องให้มหาเถรสมาคมประกาศให้วัดทุกวัดหยุดการก่อสร้าง หยุดตั้งตู้บริจาค หยุดให้ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน หยุดสาธารณสงเคราะห์ทั้งหมด หยุดช่วยเหลือภาครัฐ ภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อกิจกรรมต่างๆ เช่น สร้างโรงพยาบาล สร้างสะพาน สร้างโรงเรียน รวมทั้งต้องไปแก้กฎระเบียบในการขอสมณศักดิ์ที่ระบุว่า การขอสมณศักดิ์จะต้องมีผลงานการก่อสร้าง การทะนุบำรุง พัฒนาวัด หรือแม้กระทั้งการตั้งทุนการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน
2.วัดทุกวัดมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ หรือแม้กระทั้งการเล่าเรียน ทั้งพระปริยัติธรรรม คือแผนกธรรมและบาลี รวมถึงพระปริยัติสามัญ ตรงนี้รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลอย่างไร เพราะวัดมีมากกว่า 3 หมื่นวัด
3.นิตยภัต หรือเงินเดือนของพระ ต้องยกเลิกไป แต่เวลามหาเถรสมาคม หรือเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ท่านมีงานจะต้องใช้รถ ใช้คนขับรถ ทำกิจกรรมเพื่อพระพุทธศาสนา รัฐบาลจะดูแลตรงนี้อย่างไร อันนี้เป็นบางส่วนในเชิงโครงสร้างที่คนคิดไม่ให้พระหรือวัดรับเงินต้องไปหาทางออก
ส่วนในแง่ชีวิติจริงของพระ สมัยเป็นสามเณร เวลาเรียนนักธรรมหรือบาลี หนังสือก็ต้องซื้อเอง ขอเงินจากพ่อแม่มา เพราะเราเป็นสามเณรไม่มีเงินจากกิจนิมนต์ จีวรก็ต้องซื้อ เพราะไม่มีคนมาถวาย แม้แต่อาหารอยู่กรุงเทพมหานครก็จริง บางวันบิณฑบาตได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องอาศัยเพื่อนๆ รวบรวมกันฉัน บางมื้อก็มีบะหมี่สำเร็จรูปเป็นที่พึ่ง ก็ไม่รู้ว่าสมัยนี้ยังมีแบบนี้หรือเปล่า
เมื่อโตขึ้นมาไปเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ เวลาไปเรียนหนังสือที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เดินทางออกจากวัด หากเดินทางด้วยรถเมล์ที่มีแอร์จะต้องเสียเงิน แต่รถเมล์ร้อนก็นั่งฟรี รถเมล์ส่วนใหญ่เวลาเห็นพระตามป้ายรถเมล์มักไม่ค่อยจอด เทคนิคอย่างหนึ่งของผมก็คือ ต้องดูว่าป้ายรถเมล์นั้นมีคนอยู่หรือเปล่าหากมีก็แปลว่ายืนรอได้ หากไม่มีก็เดินเลยไปป้ายอื่นที่มีคน เพราะหากยืนรูปเดียวหรือหลายรูป รถเมล์ไม่จอดแน่ๆ หรือบางทีจอด ขายังไม่เหยียบบันไดเลย รถเมล์ออกแล้ว
ส่วนตอนกลับหลังเลิกเรียนต้องนั่งรถกระปุกเล็ก เสียรูปละ 6 บาท แล้วก็มายืนต่อด้วยเรือเจ้าพระยาเพื่อกลับวัด ค่าเทอมตอนนั้นก็ไม่กี่ร้อยบาท ตอนนี้ทราบว่าต้องเสียค่าเทอมๆ ละประมาณ 7,000 บาท แล้วไหนจะค่าหนังสือ ค่ากิจกรรมอีก ตรงนี้รัฐบาลจะว่าอย่างไร จะอุดหนุนไหม ? หรือจะยกเลิกให้พระภิกษุ-สามเณรเรียนทางโลก
เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยากเรียนปริญญาโท อยากรู้เท่าทัน “กิเลส” ของฆราวาส ก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเสียค่าเทอม 2 แสนกว่าบาท ตรงนี้โชคดีพระอุปัชฌาย์ท่านสนับสนุนจ่ายค่าเทอมให้ แต่ก็เสียค่าเดินทางมิใช่น้อย ตอนลาสิกขามีเงินออกมาไม่ถึง 1 หมื่นบาท ตกงานอยู่หลายเดือน เพราะไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ เพราะเราเคยเป็นพระมาก่อน สังคมมองว่า “โง่” ทำงานไม่เป็น ต้องอาศัยปลากระป๋อง ข้าวสาร อาหารวัด สุดท้ายเหลือเงินติดกระเป๋าไม่ถึง 100 บาท จึงได้งานทำ
ที่เล่านี้คือประสบการณ์จริงของชีวิตพระบางส่วน เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้คิดว่าคงเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นหากต้องการห้ามไม่ให้ “วัดหรือพระ” รับเงินจริงๆ รัฐบาลหรือคนที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ปัญหาบางส่วนที่เล่ามานี้ให้ได้ ส่วนภาพที่ออกมาว่า รูปโน้น รูปนี้ ไม่รับเงินไม่ต้องไปถวาย ในโลกแห่งความเป็นจริง “ชีวิตพระ” ใครจะรู้ดีกว่า...คนเคยเป็นพระ!!
….................................
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com... อ่านต่อที่ : www.dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น