ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ยินสื่อมวลชนบางสำนัก นำเสนอข่าว พิธีกรรมที่ครูบาบุญชุ่ม ท่านประกอบท่าทางการทำมือ1 เพื่อช่วยเหลือให้น้องๆทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำ
สำหรับนักประวัติศาสตร์พุทธศาสนา อาจจะคุ้นเคยสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะพิธีกรรมนี้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสาย “โบราณกรรมฐาน” 2 ที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นพันปี โดยสืบทอดต่อกันมาในสายปฏิบัติแบบเร้นลับ ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า Esoteric Southern Buddhism3 หรือ Tantric Theravada4 อันมีพระอุปคุต5 พระผู้ปราบมารในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้นกำเนิดแนวทางสายโบราณกรรมฐานนี้ด้วย6
การค้นพบคัมภีร์โบราณจากถ้ำตุนหวงที่มีอายุราวพันปี ได้ยืนยันความเก่าแก่ของท่าทางการทำ “มุทราสรณคมน์” ที่ครูบาบุญชุ่มได้ปฏิบัติเป็นอย่างดี เพราะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ซึ่งท่ามุทรามีความหมายการให้ไตรสรณคมน์ ซึ่งจะช่วยปรกโปรดให้บุคคลพ้นความกลัวในภยันตรายได้
บางท่านอาจจะสงสัยว่า เหตุใดลักษณะการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง เช่นการเป่าสังข์ การเดาะกลอง การทำมือแบบมุทธา การสวดมนต์และธารณี จึงมีความคล้ายคลึงกับของพระทิเบต สาเหตุก็เพราะพระอุปคุตเป็นปฐมาจารย์ผู้ให้กำเนิดนิกายสรวาสติวาท 7 หรือ นิกายสัพพัตถิกวาท ที่พัฒนามาจากเถรวาท และต่อมาได้พัฒนาไปเป็นวัชรยานแบบทิเบต โดยปัจจุบันพระทิเบตก็ยังถือศีลของนิกายมูลสรวาสติวาท ที่พัฒนาต่อจากนิกายสรวาสติวาทนั่นเอง
สำหรับนิกายสรวาสติวาทนั้นจัดเป็นพุทธกระแสหลัก ที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากให้แถบอินเดียภาคกลางและภาคเหนือโบราณ เอเชียกลาง (ปัจจุบันคือปากีสถาน อาฟกานิสถาน อิหร่านและพื้นที่ใกล้เคียง) โดยเฉพาะในยุคพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะนั้น นิกายนี้ได้รับการยกย่องและอุปถัมภ์จากราชสำนักให้เป็นพุทธกระแสหลักในยุคนั้น
ส่วนแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบเดียวกันนี้ ก็ยังเคยแพร่หลายในดินแดนเอเชียอาคเนย์ (คืออาเซี่ยนในปัจุบัน) ซึ่งคณะสงฆ์ยุคโบราณในดินแดนแถบนี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้และการปฏิบัติส่งต่อกันมา โดยนักวิชาการเรียกกลุ่มผู้ปฏิบัติแบบนี้ว่า “โยคาวจร (Yogavacara)“ หรือที่ในพระไตรปิฏกเถรวาทใช้คำว่า “พระโยคาวจร” 8
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพิธีกรรมหลาย ๆ อย่าง จึงยังไม่คุ้นตาชาวพุทธไทยสมัยปัจจุบัน ซึ่งห่างเหินการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบโบราณมานาน เพราะถูกอิทธิพลการปฏิรูปคำสอนใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ช่วงกลางตอนต้น
นอกจากนี้ตัวครูบาเอง ยังเคยเดินทางไปศึกษาปฏิบัติกับพระวิปัสสนาจารย์หลายองค์ทั้งในประเทศไทย ต่างประเทศ รวมถึงในแถบภูเขาหิมาลัยมาแล้วด้วย
ดังนั้นการประกอบพิธีกรรม และการปฏิบัติกรรมฐาน ของครูบาบุญชุ่ม จึงจัดว่าเป็นพิธีกรรมที่ตกทอดมาแต่พุทธโบราณ ที่หาดูได้ยาก และไม่เป็นสาธารณะ ไม่มีการสอนแบบกันโดยทั่วไป ผู้ที่จะสอนและเรียนต้องมีบุญวาสนาจริงๆเท่านั้นถึงจะได้รับการถ่ายทอด
ด้วยเหตุนี้ คงมิเกินเลย หากจะกล่าวว่า น้องๆทีมหมูป่าชุดนี้ หน่วยซีล และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกคน รวมถึงชาวไทย โชคดีมากจริงๆ ที่ครูบาบุญชุ่มผู้ทรงคุณวิเศษ เมตตามาช่วยสงเคราะห์ในยามที่มีทุกข์ภัย ซึ่งยากที่จะแก้ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี่สมัยใหม่เพียงอย่างเดียว
ท้ายที่สุดนี้ เราคงเห็นแล้วว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ได้หลอมรวม พุทธศาสน์ วิทยาศาสตร์ทางจิต และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ให้สามารถไปด้วยกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ได้อย่างกลมกลืน และนี่คือคุณูปการของพระพุทธศาสนาที่มีความหลากหลาย และเป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกในยามทุกข์ยากได้จริง มานานกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว
เรื่องโดย : กิตฺติปญฺโญ ภิกฺขุ
ขอบคุณภาพและบทความจาก www.diri.ac.nz
ขอบคุณภาพและบทความจาก www.diri.ac.nz
ไม่มีความคิดเห็น