คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ร่วมองค์กรภาคีเครือข่ายฯ จัดแถลงข่าวโครงการธรรมยาตรา ปีที่ 7 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ 2562 ต่อสื่อมวลชน
https://www.springnews.co.th/thailand/central/408435?sp
คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ร่วมองค์กรภาคีเครือข่ายฯ จัดแถลงข่าวโครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 7 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ 2562 ต่อสื่อมวลชน
นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย และผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า “การดำเนินงานโครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 7 รักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2562 นั้น เป็นการดำเนินงานร่วมกันของเครือข่ายคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทั่วโลก, องค์การพุทธโลก (พล), วัดพระธรรมกาย, ชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ปทุมธานีฯ และภาคีเครือข่ายบวรในพื้นที่ดำเนินงานฯ รวมจำนวนกว่า 20 องค์กร ซึ่งโครงการฯ ที่จัดขึ้นเป็นประเพณีในปีที่ 7 นี้ มีกำหนดดำเนินงานฯ ในระหว่างวันที่ 2 – 31 มกราคม พ.ศ. 2562 โดยกิจกรรมฯ จัดขึ้นภายในสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ในเส้นทางพระผู้ปราบมารเป็นหลัก ในเขตพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, นนทบุรี, นครปฐม และกรุงเทพฯ ทั้งนี้ โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา สืบสานพุทธประเพณี สั่งสมบุญสร้างความเป็นสิริมงคล ตามวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธเนื่องในเทศกาลขึ้นศักราชใหม่, เพื่อน้อมบูชาธรรมแด่มหาปูชนียาจารย์ในเส้นทางพระผู้ปราบมาร ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตั้งของสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายพระผู้ปราบมาร ได้แก่ ลำดับที่ 1 สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี, ลำดับที่ 2 สถานที่ตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต คลองบางนางแท่น อ.สามพราน จ.นครปฐม, ลำดับที่ 3 สถานที่เกิดในเพศสมณะ วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี, ลำดับที่ 4 สถานที่เกิดด้วยกายธรรม วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, ลำดับที่ 5 สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม, ลำดับที่ 6 สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกายวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง) กรุงเทพฯ, ลำดับที่ 7 สถานที่ขยายวิชชาธรรมกายวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทั้งนี้ พระธรรมยาตราฯ ท่านจาริกไปในเส้นทางพระผู้ปราบมารเพื่อปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมตามรอยและคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ, นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมกันสร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน เพราะตามคำสอนในพระพุทธศาสนา บุญ คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความสุขและความสำเร็จทั้งปวง พระธรรมยาตราทั้ง 1,135 รูป ที่เข้าร่วมโครงการฯ นั้น ล้วนเป็นพระภิกษุที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นพระแท้ เป็นเนื้อนาบุญแก่สาธุชน ตลอดการธรรมยาตราฯ สาธุชนทั้งหลายจะได้มีโอกาสสร้างบุญให้กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ อย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบกิจกรรมฯ ที่จัดขึ้น จึงกำหนดรูปแบบ การเดินทางของคณะพระธรรมยาตราฯ ในเส้นทางพระผู้ปราบมาร ระหว่างอนุสรณ์สถานฯ และวัดต่างๆ ที่มีกำหนดจัดกิจกรรมฯ ด้วยการใช้รถบัส และเรือโดยสารในการเดินทางเป็นหลัก อีกทั้ง กิจกรรมนี้เป็นบุญกุศล ไม่เกี่ยวกับการเมือง และไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแต่อย่างใดทั้งสิ้น”
พระมหานพพร ปุญฺญชโย รองผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของโครงการธรรมยาตราฯ ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เพื่อให้พระภิกษุบวชใหม่ได้ฝึกตนตามพุทธวิธี เป็นศาสนทายาทที่ดีแก่พระพุทธศาสนา จึงเป็นที่มาของคณะพระธรรมยาตราฯ ในโครงการฯ ทั้งนี้ โครงการบรรพชาอุปสมบทของวัดพระธรรมกาย หลังจากที่ผู้เข้าอบรมได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ในช่วงระหว่างการอบรมจะเป็นการหล่อหลอมอยู่ร่วมกันในหมู่พระสงฆ์ ให้ความรู้ปลูกฝังพระธรรมวินัย ข้อปฏิบัติ เสขิยวัตรต่างๆ วิธีการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา กล่าวโดยย่อก็คือ การอยู่ในหมู่คณะเฉพาะพระเป็นการปลูกฝังสมณสัญญา สร้างความเป็นพระให้กับผู้เข้าอบรมฯ ส่วนการออกไปปฏิบัติธรรม จาริกไปนอกสถานที่ จะทำให้พระเห็นคุณค่าของความเป็นพระ สร้างความตระหนักรู้ว่าพระภิกษุมีหน้าที่ ที่สำคัญซึ่งจะต้องปฏิบัติต่อตนเอง สังคม ชุมชน ประเทศชาติอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุนี้และสถานการณ์ปัจจุบันที่มียอดพระภิกษุที่เข้าอบรมทั้งรุ่นภาคฤดูร้อน ภาคเข้าพรรษา การอบรมพระกัลยาณมิตร หลายโครงการฯ ดังนั้น จึงมีแนวคิดนำพระภิกษุจากโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มาอบรมหล่อหลอมพร้อมกันในโครงการธรรมยาตราฯ ปฏิบัติธรรมนอกสถานที่ สร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของความเป็นพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นการดำเนินตามมโนปณิธานของตั้งแต่เริ่มสร้างวัดพระธรรมกาย คือ สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ และสร้างคนให้เป็นคนดี สำหรับปีนี้ พระภิกษุจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวนรวม 1,135 รูป มีพระเลี้ยง ที่จะให้การดูแล ทั้งเรื่องกิจวัตร กิจกรรม และการปฏิบัติธรรมอีกจำนวนรวม 250 รูป”
ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์กรผู้บริหารท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) กล่าวว่า “โครงการธรรมยาตราฯ นับว่าเป็นการส่งเสริมกิจกรรมวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธสร้างความเข้มแข็งด้านศีลธรรมตามหลักบวรอย่างแท้จริง เพราะทำให้คนในชุมชน ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน ได้มาร่วมกันทำกิจกรรมบุญกุศล ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าความสมัครสมานสามัคคีย่อมบังเกิดขึ้นเมื่อเป็นเช่นนี้ จิตสำนึกในความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในยามมีภัย ก็จะตามมา อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติให้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังถือเป็นโครงการฯ ที่มุ่งเน้นเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง เช่น การทำความสะอาดวัด ทอดผ้าป่า ถวายสังฆทานบำรุงวัดในท้องถิ่นร่วมกัน เป็นเวทีและโอกาสให้ประชาชนและองค์กรในชุมชนได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อพระรัตนตรัยและพระพุทธศาสนา อีกทั้ง ยังได้ทั้งพัฒนาด้านสุขภาพ พลานามัย ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในวัด ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน พระสงฆ์เป็นที่ศรัทธา วัดมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อส่วนรวม”
คุณสุดาลักษณ์ ชินวิรารัฒน์ ประธานชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ปทุมธานีฯ กล่าวว่า “โครงการธรรมยาตราฯ นั้น ก่อให้เกิดเป็นประโยชน์ 3 อย่าง นั่นคือ ประการแรก ประโยชน์ต่อพระภิกษุธรรมยาตราฯ เพราะเป็นโอกาสให้ท่านได้หล่อหลอมปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ได้ใช้การธรรมยาตราฯ เป็นบทฝึกในการสร้างความบริสุทธิ์จากภายนอกสู่ภายใน ตามรอยพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ น้อมนำข้อวัตรปฏิบัติและคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มามุ่งอบรมตนให้เป็นพระแท้, ประการที่ 2 ประโยชน์ต่อญาติโยม กล่าวคือ ทำให้สาธุชนทั้งหลายมีความสุขกายสุขใจที่ได้เห็นพระสงฆ์จำนวนมากเป็นพันรูป ได้มีโอกาสทำบุญและปฏิบัติธรรมกับท่าน ก่อเกิดเป็นความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา, ประการที่ 3 ประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เมื่อสาธุชนทั้งหลายเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็ยังผลให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในภาพรวม เกิดกระแสในการศึกษา รักษา และสืบทอดพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กัน เกิดแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมตามอย่างพระธรรมยาตราฯ ก่อเกิดเป็นผลต่อความรุ่งเรืองมั่นคงของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ โครงการฯ ยังถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของคณะสงฆ์ที่มุ่งเน้นรณรงค์ให้เกิดการรักษาศีล 5 ในหมู่ประชาชน เพราะตลอดโครงการฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมรักษ์ศีล 5 ด้วยการการปฏิบัติธรรม ทำทาน รักษาศีล สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา ควบคู่กับกิจกรรมรักษ์บวร ด้วยการร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์เครือข่ายบวรทำความสะอาดวัดให้สะอาด สว่าง สงบ, ทอดผ้าป่าสามัคคีและถวายมหาสังฆทานเพื่อบำรุงวัดและพระสงฆ์ในท้องถิ่น, มอบทุนการศึกษาให้แก่เยาวชน ตลอดโครงการฯ อีกด้วย”
ไม่มีความคิดเห็น