พระซันเดอร์ เขมธมฺโม เดิมชื่อ Sander Oudenampsen Master Degree : Organizational Psychology Radboud University : Netherlands
อบรมพระธรรมทายาทนานาชาติ ปีพ.ศ.2548 ปัจจุบัน พรรษา 10 ปฏิบัติศาสนกิจที่ วัดพระธรรมกายเบเนลักซ์ ประเทศเบลเยี่ยม ชีวิตของพระฝรั่งชาวเนเธอร์แลนด์ อีกรูปที่น่าสนใจมากค่ะ สมัยท่านเรียนมหาวิทยาลัย อายุ19ปี หลวงพี่ท่านเริ่มหยิบหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา "The Tibetan book of The Dead"มาอ่าน เป็น การถ่ายทอดเรื่องชีวิตหลังความตายตามทัศนะของพุทธทิเบต รู้สึกทึ่งและอัศจรรย์ใจว่าพุทธศาสนาสามารถอธิบายเรื่องราวของชีวิตได้ละเอียดลึกซึ้ง ที่ล้วนแต่เป็นเหตุเป็นผลเช่นเดียวกับหลักวิทยาศาสตร์ จะต่างกันเพียงพุทธศาสตร์กล่าวถึงสภาวะจิตใจ ซึ่งละเอียดลึกซึ้งเกินกว่าดวงตามนุษย์จะมองเห็น อ่านแล้วยิ่งรู้สึกคุ้นเคยเหมือนเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน พิจารณาทุกถ้อยคำด้วยใจจดจ่อ ยิ่งอ่านยิ่งถูกใจ และอยากจะศึกษาธรรมะมากขึ้น จนจับหลักได้ว่า มนุษย์สามารถฝึกใจของตนได้
นับจากนั้น ท่านจึงตั้งใจฝึกสมาธิ แสวงหาวิธีนั่งสมาธิหลายวิธี ลงทุนซื้อตำรา กางตำราลองผิดลองถูก ทั้งการกำหนดลมหายใจ ยุบหนอ พองหนอ เพ่งกสิณ ที่อยู่นอกตัว พยายามทำทุกวัน วันละ15นาที นานเป็นปี ผลที่ได้ แม้จะมีสติเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ความเครียดตามมา สุดท้ายก็ยังไม่ได้ผลดังหวัง ไม่พบความสุขเลยสักครั้งเดียว
ต่อมาท่านจึงพยายาม แสวงหาครูที่จะสอนให้นั่งสมาธิได้ดีขึ้น ค้นหาสถานที่ปฏิบัติธรรมจากอินเตอร์เนท ค้นไปเจอเวปไซด์ของศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ เบลเยี่ยม "International Dhammakaya Society of Belgium" จึงรีบสอบถามข้อมูลหลักสูตรการนั่งสมาธิทันที ครั้งแรกที่เข้ามาที่ศูนย์เบลเยี่ยมนี้ ได้พบกับพระอาจารย์นิโคลัส ซึ่งเป็นชาวยุโรปเหมือนกัน ดีใจมาก สังเกตสีลาจารวัตรงดงามน่าเลื่อมใส ทุกสิ่งที่ท่านสอน แม้จะเป็นสิ่งใหม่ และเป็นเรื่องยากสำหรับชาวตะวันตก แต่ท่านก็สามารถอธิบายให้เข้าใจได้อย่างง่ายดาย เข้าถึงจิตใจชาวตะวันตก ท่านเทศน์เรื่องมงคลชีวิต ซึ่งเป็นหลักธรรมะที่ดีมาก เอามาใช้ได้จริง และฝึกสมาธิมานึกน้อมใจไว้ในกลางตัว..ตามคำสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำ ก็ได้ผลดีขึ้น และพบกับความสุขที่แท้จริงภายใน ในระหว่างที่เรียนปริญญาโท ท่านก็มานั่งสมาธิอย่างต่อเนื่ิอง สัปดาห์ละ2ครั้ง ซึ่งต้องเดินทางนั่งรถไฟข้ามจังหวัด ไปกลับรวม5ชั่วโมง แต่การมาที่นี่ นับว่าคุ้มเกินคุ้ม เพราะได้นั่งสมาธิ ได้ฟังธรรม ซึ่งท่านชอบมาก บางครั้งฟังเพลินจนพี่อุบาสก(ปัจจุบันคือ พระดร.ปวิทัย) ต้องมาเรียกว่า ถึงเวลารถไฟเที่ยวสุดท้ายแล้ว ทั้งที่อยากฟังต่อ เหมือนดูหนังยังไม่จบม้วน
ต่อมามีการบวชสามเณรที่ วัดพระธรรมกายอซูซ่า แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจึงตัดสินใจบินไปบวชสามเณรที่นั่น เพราะที่ยุโรปยังไม่มีการบวช โดยมีความตั้งใจอยากจะเรียนรู้ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น ตอนนั้นหลวงพ่อทัตตะเป็นพระอาจารย์อบรมด้วยตัวเอง หลังจากนั้นจึงได้บวช สามเณรอีกสองครั้ง ที่เบลเยี่ยม และ ฝรั่งเศส และจดจำโอวาทของหลวงพ่อธัมมชโยที่ว่า
"บวชเป็นสามเณรแล้วให้ฝึกตัวเหมือนสามเณรนิโครธ ที่สามารถทำให้พระเจ้าอโศกมหาราช หันมาเลื่อมใสและ นับถือพระพุทธศาสนา เป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดและเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า" **คนมีบุญ แม้อยู่ไกล ก็จะแสวงหามายังแหล่งแห่งบุญ** หลวงพี่ได้เข้าโครงการ Inner peace pioneers รุ่นแรก ได้มาประเทศไทย และได้มาวัดพระธรรมกายครั้งแรก ในงานบุญวันมาฆบูชา ปีพ.ศ.2543 ดีใจมากๆที่เห็นชาวพุทธมากมายหลายประเทศ มาสั่งสมบุญร่วมกัน
หลังจากเรียนจบปริญญาโท หลวงพี่จึงตัดสินใจเข้ามาช่วยงานพระศาสนา เป็นเจ้าหน้าที่อุบาสกที่วัด ช่วยงานที่วัดพระธรรมกาย 8เดือน และช่วยงานที่ศูนย์เบลเยี่ยมอีก1ปี ค่ะ เมื่อมีโครงการบวชพระนานาชาติจึงบินกลับมา วัดพระธรรมกายและตั้งใจบวชสร้างบารมี อุทิศตนให้พระพุทธศาสนา โดยไม่ขอใช้ชีวิตทางโลกอีก "ชีวิตสมณะ แม้เป็นชีวิตที่เรียบง่าย แต่ก็สามารถเก็บเกี่ยวความสุขได้ทุกเวลานาที
ซึ่งแตกต่างกับชาวโลก ที่มีชีวิตอยู่บนความทุกข์จนชิน" "การบวชเป็นเรื่องที่สำคัญ ใครอยากฝึกตัวจริงๆ อยากรู้ศักยภาพของตัวเองจริงๆว่ามีมากน้อยแค่ไหน ให้ลองมาบวช การฝึกตนเป็นพระ จะรู้จักตัวเองจริงๆ เราหนีตัวเองไม่พ้น หนีไม่ได้ เราต้องอยู่กับตัวเองตลอดชีวิต ตอนเป็นฆราวาส พอเรามีความทุกข์ เราจะออกไปเที่ยว หรืออาจหาหนังสือมาอ่าน แต่ถ้าเป็นพระ เราจะต้องเข้มแข็ง อดทน เราจะได้ฝึกสมาธิ ฟังธรรมะมากขึ้นก็จะเกิดปัญญา และจะ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยตัวเองอย่างชาญฉลาดและถูกวิธี แม้คนที่ไม่มีปัญหาชีวิต ก็ยังรู้จักชีวิตไม่สมบูรณ์ ก็อยากให้มาบวช เพราะจะได้ฝึกสมาธิและพบความสุขที่แท้จริง" ชีวิตพระฝรั่งท่านนี้ เป็นชีวิตที่งดงามและท่านเป็นแสงสว่างให้กับชาวโลกอย่างแท้จริง ยังมีผู้คนอีกมากมายที่เหมือนจะรอคอยบางสิ่ง แสวงหาบางสิ่ง แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร การบวช จะเป็นคำตอบ สำหรับคุณ ^^
Cr ; Pinrat Nut Boonsirirasamikul
น้อมกราบอนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุครับ
ตอบลบ