ทรัพย์สินวัด-พระ
สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ชี้แจงกรณีมีหนังสือถึงผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทั่วประเทศ เกี่ยวกับการวางระบบการเงินและบัญชีของวัด ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
ระบุวัตถุประสงค์เพื่อขอทราบแนวทางปฏิบัติได้จริงของวัดต่างๆ เท่านั้น หลักการคือพระภิกษุสงฆ์ไม่ต้องมาถือเงิน แต่ผ่านบัญชีส่วนกลาง เพื่อให้วัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการนำไปพิจารณาปรับใช้ให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย
แม้จะอ้างว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีเกี่ยวกับเงินอุดหนุนวัดและการจับกุมพระสงฆ์ในขณะนี้ แต่สถานการณ์ที่บังเอิญมาสอดคล้องกัน จึงทำให้เกิดความสงสัยตามมา
เป็นความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคณะสงฆ์กับหน่วยงานของรัฐ
ตามระเบียบการจัดการทรัพย์สินของวัดนั้น แยกค่อนข้างชัดเจนว่า ทรัพย์สินของวัดหรือของคณะสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว ได้แก่ เจ้าอาวาส ตลอดจนพระลูกวัด และสามเณร
ระยะหลังๆ ดูเหมือนว่าสังคมบางส่วนไม่อยากให้พระสงฆ์มีทรัพย์สินส่วนตัวอย่างสิ้นเชิง โดยให้ทรัพย์สินและรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดตกเป็นของวัดสถานเดียว ซึ่งก็มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระสงฆ์สามเณรยังต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวอยู่ เช่น ค่าเดินทาง ค่าศึกษาเล่าเรียน ค่ารักษาโรคและการดูแลสุขภาพ ตลอดจนอุปกรณ์อื่นที่เอื้อต่อการศึกษาหาความรู้
การจัดการทรัพย์สินโดยให้เป็นของวัดเท่านั้นจึงเป็นเรื่องก้ำกึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทรัพย์สินเงินทองของบริจาคนั้น ส่วนใหญ่มาจากความศรัทธาต่อพระสงฆ์ในฐานะปัจเจกบุคคลเป็นด้านหลัก ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน
พระสงฆ์อีกเป็นจำนวนมากที่มีบารมี และเป็นชุมทางแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนมาก แต่ละปีมีมหาศาล แต่ก็มีวิธีจัดการเงินเหล่านั้นด้วยการนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ กัน
ตัวอย่างกรณีพระเทพวิทยาคมหรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เมื่อครั้งยังดำรงชีวิตอยู่ ได้รับเงินบริจาคปีละหลายสิบล้าน แต่ก็ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของวัดบ้านไร่ แต่สิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนเสนาสนะอื่นๆ ต่างหากที่เป็นของวัด
การจัดระเบียบทรัพย์สินวัดย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่การรุกเข้าไปถึงทรัพย์สินส่วนบุคคล จึงต้องรอบคอบและระมัดระวัง
ภาพและบทความจาก บทบรรณาธิการ www.khaosod.co.th
ไม่มีความคิดเห็น