ยึดทรัพย์บรรทัดฐานใหม่ สั่งบังคับคดีข้ามกระทรวง
เปิดช่องกฎหมายใหม่ยึดเงินในบัญชี 40,000 วัด ได้หรือไม่
ตั้งแต่มีข่าวกระทรวงการคลังสั่งให้กรมบังคับคดีสังกัดกระทรวงยุติธรรมยึดเงินในบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลนั้น ก็อดนึกเป็นห่วงมาถึงวัด 40,000 แห่งทั่วประเทศไม่ได้ เพราะทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า
1. การยึดเงินในบัญชีธนาคารได้โดยไม่มีคำสั่งศาลนั้น ทำได้หรือไม่
2. การออกคำสั่งบังคับคดีข้ามกระทรวง ทำได้หรือไม่
3. การบังคับคดีด้วยแนวปฏิบัติใหม่นี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในกฎหมายใหม่ด้วยหรือไม่
เพราะสิ่งใดก็ตามที่ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน แต่ถ้าสังคมยอมรับก็จะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติใหม่ที่ถูกต้องขึ้นมาทันที
ยิ่งเมื่อย้อนไปดูการประกาศใช้กฎกระทรวงเรื่องการฟอกเงินที่เคยประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2559 เทียบเคียงกับแนวทางปฏิบัติเรื่องการบังคับคดีในกฎหมายใหม่ที่จะประกาศใช้ในเดือนกันยายน 2560 นี้ด้วยแล้ว ก็ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นอีกหลายประการ
ข้อ 1. เนื่องจากกฎกระทรวงใหม่เรื่องการฟอกเงินนั้น ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 กำหนดไว้ว่า
หากบัญชีใดมีการทำธุรกรรมเงินสด 2 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะต้องรายงานให้ ปปง. ทราบ เพื่อตรวจสอบการฟอกเงิน โดยธุรกรรมที่ธนาคารต้องรายงานให้ ปปง.ทราบนั้นแบ่งเป็น 5 รายการ ได้แก่
1) ธุรกรรมเงินสดมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
2) ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป
3) ธุรกรรมเงินสดที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป
4) ธุรกรรมที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยหักจากบัญชี มีมูลค่าตั้งแต่ 7 แสนบาทขึ้นไป
5) ธุรกรรมการชำระเงินแทน (Bill Payment) ที่ใช้เงินสด มีมูลค่าตั้งแต่ 7 แสนบาทขึ้นไป
กฎกระทรวงดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลต่อบัญชีเงินฝากของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อบัญชีเงินบริจาคของวัด 40,000 วัดทั่วประเทศในฤดูทอดกฐิน ซึ่งเป็นช่วงบอกบุญใช้หนี้ค่าก่อสร้างโบสถ์สร้างศาลาอีกด้วย
ถ้าหากบัญชีวัดใดมีการบริจาคทำบุญเข้ามาเกิน 2 ล้านบาท ก็จะเข้าเงื่อนไขที่ธนาคารต้องรายงานให้ ปปง. ทราบ และเป็นช่องทางให้เกิดการตั้งข้อหาเพื่อเข้ามาตรวจสอบว่า การทำบุญโอนเงินเข้าบัญชีวัดนั้นเข้าข่ายฟอกเงินหรือไม่
เพราะก็รู้อยู่ว่าเงินบริจาคนั้น วัดไม่มีทางรู้ที่มาของเงินหรือตรวจสอบเส้นทางการเงินของญาติโยมได้เลย ถ้าวัดนั้นแจงที่มาของเงินบริจาคหรือเส้นทางการเงินไม่ได้ ก็มีโอกาสโดนข้อหาฟอกเงินได้เช่นกัน
ข้อ 2. ในช่วงที่ตรวจสอบบัญชีอยู่นี้ วัดที่มีการก่อสร้างค้างอยู่ ย่อมเกิดปัญหาค้างชำระเงินค่าก่อสร้างกับธนาคารหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง
เพราะกว่าจะตรวจสอบเสร็จก็ใช้เวลานานหลายปี เงินที่อยู่ในบัญชีนั้นก็จะเป็นเงินแช่แข็ง เบิกไม่ได้ โอนไม่ได้จนกว่าจะตรวจสอบเสร็จ แม้ภายหลังตรวจสอบแล้วไม่พบการฟอกเงินก็จะกลายเป็นปัญหาอย่างอื่นตามมาอีกมากมาย
ปัญหาแบบนี้ อาจส่งผลถึงขั้นทำให้เจ้าอาวาสบางวัดต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ด้วยการนำทรัพย์สินส่วนตัวก่อนบวช ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินส่วนตัวมาจ่ายหนี้แทนวัดไปก่อน
แต่ปัญหาที่จะตามมาอีกก็คือ ถ้าจ่ายหนี้แทนวัดไปแล้ว การตรวจสอบข้อหาฟอกเงินยังไม่เสร็จ ก็จะไม่สามารถเบิกเงินมาใช้หนี้ได้ ขณะเดียวกันจะไปบอกบุญใหม่ก็ไม่ได้ เพราะบัญชีวัดยังติดรายชื่อฟอกเงินอยู่
เมื่อยืมเงินมาแล้ว หาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน มีเงินในธนาคารก็นำมาใช้หนี้ไม่ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือการเป็นคดีความบนศาล ตามมาด้วยการยึดทรัพย์สินส่วนตัวไปขายทอดตลาด
ข้อ 3. เมื่อมีการขายทอดตลอด ก็ต้องมาดูกฎหมายใหม่เรื่องการบังคับคดีที่จะประกาศใช้ในวันที่ 4 กันยายน 2560 นี้ สมาคมทนายความฯ จัดสัมนาเพื่อแจ้งให้ทราบว่า กฎหมายบังคับคดีฉบับใหม่ ได้ตัดสิทธิคัดค้านขายทอดตลาดของเจ้าของทรัพย์ไปแล้ว ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อศาลได้มีคำสั่งยึดทรัพย์แล้ว พนักงานบังคับคดีมีอำนาจในการขายทอดตลาดโดยที่เจ้าของทรัพย์ไม่มีสิทธิร้องคัดค้าน ซึ่งยังต้องหารือกันต่อไปว่า แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้ควรจะดำเนินการอย่างไร (บางท่านให้ข้อสังเกตว่า การตัดสิทธิคัดค้านออกไป อาจส่งผลให้คดีแพ่งลดลงจากศาล แต่คดีอาญาพุ่งสูงขึ้นแทน)
ข้อ 4 เมื่อนำทั้ง 3 เรื่องนี้ มาประกอบกับแนวทางปฏิบัติใหม่ของกรมบังคับคดี ซึ่งสามารถรับคำสั่งจากกระทรวงการคลังได้ สามารถยึดทรัพย์ได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล และในอนาคตยังสามารถสั่งขายทอดตลาดได้โดยเจ้าของทรัพย์ไม่มีสิทธิคัดค้าน ก็ยิ่งทำให้พระสงฆ์และประชาชนเกิดความวิตกกังวลขึ้นว่า
- หากประชาชนทำบุญบริจาคให้แก่วัดตั้งแต่ 1 แสน ถึง 2 ล้านบาท จะโดนอายัดบัญชีตั้งข้อหาฟอกเงินหรือไม่ ?
- หากมีการบริจาคเงินเข้าบัญชีวัดตั้งแต่ 1 แสน ถึง 2 ล้านบาท จะโดนอายัดบัญชีตั้งข้อหาฟอกเงินหรือไม่ ?
- หากมีการตั้งข้อหาฟอกเงินกับประชาชนที่ทำบุญให้แก่ 40,000 วัดทั่วประเทศ กระทรวงการคลังจะสั่งให้กรมบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีของประชาชนโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลได้หรือไม่ ?
- หากมีการตั้งข้อหาฟอกเงินจากการรับบริจาคของวัด 40,000 แห่งทั่วประเทศ กระทรวงการคลังสามารถออกคำสั่งให้กรมบังคับคดียึดเงินในบัญชีของวัด 40,000 แห่งทั่วประเทศโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลได้หรือไม่ ?
เพราะเมื่อแนวทางปฏิบัติใหม่เกิดขึ้นแล้วแบบนี้ แล้วสังคมให้การยอมรับ ก็จะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป ก็จะเป็นการเปิดช่องที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่พระสงฆ์และวัด 40,000 แห่งทั่วประเทศ ที่กำลังทำหน้าที่สืบอายุพระพุทธศาสนาอย่างยากลำบากอยู่ในขณะนี้
ปล. อ้างอิงข่าว : ออกกฎกระทรวงใหม่ ทำธุรกรรมเงินสด 2 ล้านบาทขึ้น สถาบันการเงินต้องแจ้งปปง. คุมฟอกเงิน https://www.matichon.co.th/news/369316
Cr : Ptt Cnkr
ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/pagewatbankhun
ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/pagewatbankhun
ไม่มีความคิดเห็น