สาเหตุที่ตรัสชาดก
ศิษย์ของพระสารีบุตรรูปหนึ่ง เรียนพระวินัยอย่างเต็มที่และทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ แต่สมาธิไม่ก้าวหน้า ท่านจึงพาศิษย์ไปเฝ้า พระพุทธองค์จึงตรัสถามถึงวิธีฝึก ท่านกราบทูลว่า ให้ฝึก "อสุภกรรมฐาน" เหมือนกับศิษย์คนอื่นๆ ระบรมศาสดาทรงระลึกชาติหนหลังด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า พระสารีบุตรไม่ได้บรรลุ "อาสยานุสยญาณ" จึงฝึกลูกศิษย์รูปนี้ไม่ได้ผล และให้กลับไปก่อนโดยทิ้งลูกศิษย์ไว้ อดีตชาติพระภิกษุรูปนี้เมื่อ ๕๐๐ ชาติหลังๆ เกิดเป็นช่างทำทองที่งดงามวิจิตรมาตลอด ดังนั้นจะรู้สึกแช่มชื่นแจ่มใสเมื่อพบของสวยงามเท่านั้น เมื่อให้ฝึกสมาธิโดยพิจารณาของไม่งาม จึงไม่ถูกอัธยาศัย ทำใจให้สงบไม่ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสให้พระภิกษุรูปนั้น นั่งพิจารณาดอกบัวที่มีสีสวยงามในสระน้ำ แล้วทรงอธิษฐานให้ดอกบัวเนรมิตค่อยๆ เปลี่ยนแปลง จากที่สวยงามเหมือนดอกบัวทอง กลับกลายเป็นเหี่ยวลงๆ สีซีดจาง โรยร่วงไปทีละกลีบ จนหลือแต่ฝักบัวเหี่ยวแห้ง หาความสวยงามไม่ได้ พระภิกษุมองเห็นดังนั้น เกิดความสลดใจว่าร่างกายของเราก็เหมือนกัน มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เมื่อพิจารณาจนจิตสงบ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง ภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันในธรรมสภาแสดงความชื่นชมว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งอัธยาศัยของสัตว์โลก พระบรมศาสดาจึงทรงนำ ติฏฐชาดก มาแสดงดังนี้้ ข้อคิดจากชาดก ๑. เป็นธรรมดาว่า บุคคลยิ่งฝึกจิตใจให้สะอาดมีความรู้ความสามารถสูงขึ้นเพียงไร มักมีความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ คือ ไม่อยากคลุกคลีกับผู้ที่ไร้คุณธรรม ยกเว้นแต่มีจิตกรุณา ต้องการช่วยเหลือ ดังนั้นบุคคลใดก็ตาม ที่มีครูอาจารย์ดี มาเคี่ยวเข็ญว่ากล่าวตักเตือน ต้องถือว่าท่านลดตัวลงมาใกล้ชิด มาช่วยเหลือ สมควรรับปฏิบัติตามโอวาท และกราบขอบพระคุณโดยความเคารพ ๒. เมื่อได้คนดีมีวิชามาอยู่ด้วย ต้องจัดที่อยู่อาศัยอย่างดี จัดหน้าที่การงานให้อย่างเหมาะสม และให้ความเคารพเกรงใจด้วย มิฉะนั้นแล้วท่านรำคาญ เบื่อหน่ายและหนีไปเสีย เพราะคนดีมีฝีมือ โดยทั่วไปแล้วไม่เห็นแก่เงิน แต่เห็นแก่งานที่เหมาะสมกับความสามารถ และเกียรติยศของเขา ๓. เมื่อผู้ใหญ่อธิบายเหตุผลให้ผู้น้อย หากเห็นว่าผู้น้อยภูมิปัญญายังไม่ถึง แต่เพื่อหวังผลในเชิงปฏิบัติ อาจบอกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น ต่อเมื่อโตขึ้นมีปัญญาตรองตามก็สามารถเข้าใจได้
ไม่มีความคิดเห็น