ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

5​ แคว้น​ที่เจริญ​รุ่งเรือง​ที่สุด​ในยุค​พุทธกาล

รู้จัก 5​ แคว้น​ที่เจริญ​รุ่งเรือง​ที่สุด​ในยุค​พุทธกาล
ในบรรดา​มหาชนบท 16 แคว้นในสมัยพุทธกาล หมายถึง แคว้นขนาดใหญ่ ตามที่มีปรากฏ​ใน​ "อุโบสถสูตร แห่งติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎก" ดังนี้

1. แคว้นกัมโพชะ มีเมืองหลวงชื่อ ทวารกะ
2. แคว้นกาสี มีเมืองหลวงชื่อ พาราณสี
3. แคว้นกุรุ มีเมืองหลวงชื่อ อินทปัถะ
4. แคว้นโกศล มีเมืองหลวงชื่อ สาวัตถี
5. แคว้นคันธาระ มีเมืองหลวงชื่อ ตักศิลา
6. แคว้นเจตี มีเมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี
7. แคว้นปัญจาละ มีเมืองหลวงชื่อ กัมปิลละ
8. แคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์
9. แคว้นมัจฉะ มีเมืองหลวงชื่อ วิราฎ
10. แคว้นมัละ มีเมืองหลวงชื่อ กุสาวดี (แต่ภายหลังแยกเป็นกุสินาราและปาวา)
11. แคว้นวังสะ มีเมืองหลวงชื่อ โกสัมพี
12. แคว้นวัชชี มีเมืองหลวงชื่อ เวสาลี (ไพศาลี)
13. แคว้นสุระเสนะ มีเมืองหลวงชื่อ มถุรา
14. แคว้นอวันตี มีเมืองหลวงชื่อ อุชเชนี
15. แคว้นอังคะ มีเมืองหลวงชื่อ จัมปา
16. แคว้นอัสสกะ มีเมืองหลวงชื่อ โปตลิ (โปตละ)
นอกจากมหาชนบทหรืออาณาจักร 16 นี้แล้ว ยังมีแคว้นอื่นๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ที่พอจะประมวลมาได้ดังนี้

1. แคว้นโกลิยะ มีเมืองหลวงชื่อ เทวทหะ (รามคาม)
2. แคว้นภัคคะ มีเมืองหลวงชื่อ สุงสุมารคีระ
3. แคว้นมัททะ มีเมืองหลวงชื่อ สาคละ
4. แคว้นวิเทหะ มีเมืองหลวงชื่อ มิถิลา
5. แคว้นสักกะ มีเมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์
6. แคว้นสุนาปรันตะ มีเมืองหลวงชื่อ สุปปารกะ
7. แคว้นอังคุตตราปะ เมืองหลวงเป็นเพียงนิคมชื่ออาปณะ

ในมหาชนบทหรืออาณาจักร 16​แคว้น​ ในสมัยพุทธกาลจากที่มีบันทึก​ในประวัติศาสต​ร์พระพุทธ​ศาสนา​ มีอยู่​ 5​ แคว้น​ที่มีบทบาท​สำคัญ​ที่โดดเด่น​มาก​ที่สุด​ในยุค​พุทธกาล​และ​ในกาลเวลาต่อ​ ๆ​ มา ดังต่อไปนี้

1. แคว้น​มคธ
2. แคว้น​โกศล
3. แคว้น​วังสะ
4. แคว้น​อวัน​ตี
5. แคว้น​วัชชี

1. แคว้นมคธ
เป็นแคว้นที่มีความเจริญมากที่สุดในสมัยพุทธกาล ปกครองระบอบ​สมบูรณาญาสิทธิราชย์​ ปัจจัยแห่งความเจริญจึงขึ้นอยู่กับคุณธรรมของพระเจ้าพิมพิสารเป็นสำคัญ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีจักรวรรดิวัตรและทศพิธราชธรรมอย่างมาก ประกอบกับการมีขัตติยพละ 5 อย่างสมบูรณ์ ทรงเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่น และทรงมีกัลยาณมิตรด้วย ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้แคว้นมคธมีความเจริญอย่างมาก แคว้น​มค​ธ​ถือกำเนิดขึ้นไล่เลี่ยกับการกำเนิดของมหาชนบท 16 แคว้น มีเมืองหลวงครั้งแรกชื่อราชคฤห์ ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูจึงย้ายเมืองหลวงไปยังปาฏลีบุตร (ปัฏนะ) ริมฝั่งแม่น้ำคงคา มคธได้ผ่านการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะมาจากอำมาตย์สุสุนาค มหาโจรนันทะ จันทรคุปต์ พราหมณ์ปุษยมิตร ฯลฯ แคว้นมคธได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 516 กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสาตวหนะ ต่อมาประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 9
ราชอาณาจักรมคธก็ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในนามของราชวงศ์คุปตะ อันเป็นยุคคลาสสิกของอินเดีย ราชอาณาจักรมคธในยุคนี้ก็อยู่สืบต่อมา แต่มิใช่ศูนย์อำนาจอีกหลังคุปตะล่มสลาย จนกองทัพมุสลิมเติร์กเข้ายึดอินเดียเหนือได้ทั้งหมด จึงเป็นจุดสิ้นสุดที่แท้จริงของราชอาณาจักรมคธ แคว้นมคธ ตั้งอยู่ใต้แม่น้ำคงคาตอนกลางมีแม่น้ำคงคาอยู่ห่างทิศเหนือ และมีภูเขาวินชัยอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโสนกับแคว้นอังคะ นครหลวงชื่อราชคฤห์ ตั้งอยู่ในเขตภูเขา 5 ลูกล้อมรอบคือ ภูเขาคิชณกูฏ, อิสิคิสิ, ปัพภาระ, เวภาระ และเวปุลละเรียกว่าเบญจคีรี ต่อมาพระเจ้าอุทายีพระราชนัดดาของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ย้ายนครหลวงไปที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคาเหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป (ปัจจุบันดินแดนแห่งนี้คือแคว้นพิหารของประเทศอินเดียนครราชคฤห์ บัดนี้เรียกว่า ราชคีร์ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองปัตนะเมืองหลวงปัจจุบันของแคว้นพิหารไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 65 กิโลเมตร นครปาฏลีบุตร ปัจจุบัน​นี้เรียกว่าปัตนะ)

2. แคว้นโกศล
เป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมาก ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่สมัยปลายพุทธกาลกลับต้องประสบกับความเสื่อมจนต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นมคธ พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการเลือกคบมิตร แม้พระองค์ทรงมีจักรวรรดิวัตรและทศพิธราชธรรม แต่กลับมีขัตติยพละที่ไม่สมบูรณ์ คือขาดผู้จงรักภักดี แรกๆ ทรงมีกัลยาณมิตร แต่หลงเชื่อคำยุยงของผู้ไม่หวังดี จึงทำให้เสียกัลยาณมิตรไปกอปรกับการคบหาปาปมิตร จึงเป็นปัจจัยนำแคว้นโกศลพบกับความเสื่อมในที่สุด
เมืองหลวงของแคว้นโกศลในพุทธสมัยคือ สาวัตถี แคว้นกาสีในสมัยนั้นก็ขึ้นกับแคว้นโกศล มีหลักฐานมากแห่งทั้งทางฝ่ายพุทธและอื่น ๆ แสดงว่าแคว้นสักกะแห่งกษัตริย์ศากยวงศ์ของพระพุทธองค์ก็อยู่ภายใต้อำนาจหรือความคุ้มครองของแคว้นโกศล เมืองและสถานที่ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์พุทธศาสนา เช่น เมืองสาเกต อโยธยา เสตัพยา เกสปุตตะของชาวกาลามะ หมู่บ้านอิจฉานังคละ และป่าอันธวันใกล้สาวัตถี แคว้นโกศล ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัยกับแม่น้ำคงคาตอนกลาง ทิศเหนือจดภูเขาหิมาลัยตะวันตก ทิศใต้จดแม่น้ำคงคา ทิศตะวันออกจดแคว้นกาสีต่อกับแคว้นมคธ นครหลวงชื่อสาวัตถี (ปัจจุบันเป็นดินแดนราวเมืองอโยธยา หรือ โอธ บัดนี้เรียกว่า สะเหต-มะเหต ตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำอจิรวดีหรือรับดิ ห่างจากเมืองโอธไปทางทิศเหนือราว 80 กิโลเมตร และอยู่ทางทิศใต้ห่างจากเขตแดนประเทศเนปาลราว 50​ กิโลเมตรแคว้นโกศลคือ อุตรประเทศในปัจจุบัน)

3. แคว้นวังสะ
เป็นราชอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรือง และมีอำนาจมาก พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นคือพระเจ้าอุเทน มีเมืองหลวงชื่อ โกสัมพี เป็นเมืองใหญ่และเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างแคว้นที่สำคัญแห่งหนึ่ง พระอานนท์ระบุว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งควรเป็นที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์​ วัดที่เมืองโกสัมพีในพุทธสมัยมีปรากฏชื่อ 4 วัด คือวัดโฆสิตาราม วัดกุกกุฏาราม วัดปาวาริการาม หรือปาวาวิกัมพวัน ซึ่งเศรษฐีแห่งโกสัมพี 3 คน คือเศรษฐีโฆสกะหรือโฆสิตะ เศรษฐีกุกกุฏะ และเศรษฐีปาวาริกะโดยลำดับ สร้างถวายแด่พระพุทธองค์ ในโอกาสเดียวกัน กับวัดที่ 4 คือวัดพัทริการาม ซึ่งดูว่าจะอยู่ห่างออกไปเล็กน้อยปรากฏตามพระคัมภีร์ว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จประทับ ณ วัดทั้งสี่นี้บ่อย ๆ และบางโอกาสได้ประทับอยู่นาน ได้ทรงแสดงพระสูตรต่าง ๆ ณ วัดทั้งสี่นี้เป็นจำนวนมาก ทรงบัญญัติสิกขาบทรวมหลายสิขาบท รวมทั้งที่ห้ามภิกษุดื่มสุราด้วยพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่ 9 ณ โกสัมพีนี้ แคว้นวังสะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำยมุนา ทิศใต้ของแคว้นโกศล และทางทิศตะวันตกของแคว้นกาสี นครหลวงชื่อโกสัมพี ตั้งอยู่เหนือฝั่งแม่น้ำยมุนา (ปัจจุบันนครโกสัมพี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อว่าโกสัมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอัลลาฮาบัด)

4. แคว้นอวันตี
เป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก​ พระเจ้าจัณฑปัชโชติทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งมาก พระองค์มีความสัมพันธ์กับ พระเจ้าพิมพิสาร แคว้นมคธ และพระเจ้าอุเทน เมืองโกสัมพี
แคว้นอวันตี หรือแคว้นมาลวะ ตั้งอยู่เหนือภูเขาวินธัย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอัสสกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นวังสะ นครหลวงชื่ออุชเชนี (ปัจจุบัน​คือเมืองอุเทนในประเทศอินเดีย)

5.แคว้นวัชชี
เป็นแคว้นที่รุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่ง มีการปกครองแบบสามัคคีธรรม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยในลักษณะหนึ่ง คือปกครองแบบไม่มีกษัตริย์เป็นพระประมุขที่ทรงมีพระราช​อำนาจสิทธิ์ขาด มีแต่ผู้ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐ แล้วบริหารงานโดยการปรึกษาหารือกับสภาซึ่งประกอบด้วยเจ้าหรือกษัตริย์วงศ์ต่าง ๆ รวมถึง 8 วงศ์ด้วยกัน และในจำนวนนี้วงศ์ลิจฉวีแห่งเวสาลี และวงศ์วิเทหะแห่งมิถิลา เป็นวงศ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด แคว้นวัชชี ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อเวสาลี หรือไพศาลี (ปัจจุบันนครเวสาลีบัดนี้เรียกว่า เบสาห์อยู่ห่างจากเมืองปัตนะไปทางทิศเหนือราว 45 กิโลเมตร) เวสาลี นครหลวงของวัชชี เป็นจุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในสมัยของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมเวสาลีครั้งแรก ในปีที่ 5 นับแต่ตรัสรู้ ตามการกราบทูลเชิญของคณะผู้ครองแคว้น เมื่อเวสาลีประสพทุพภิกขภัยและฉาตกภัยร้ายแรง ผู้คนล้มตายนับจำนวนไม่ได้ เมื่อ
พระพุทธองค์เสด็จถึงด้วยอำนาจพุทธานุภาพทำให้ภัยทั้งหลายสงบลง และหมดสิ้นไปในระยะเวลาอันรวดเร็วและที่ป่ามหาวันนี้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีกับเหล่านางสากิยานี 500 ได้พร้อมกันปลงผมและครองเพศนักบวช เดินทางจากกบิลพัสดุ์มาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อกราบทูลขอบวชในพระศาสนา อันมีผลทำให้พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธานุญาตให้มีภิกษุสงฆ์ หรือให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีในพระศาสนาได้
ในการเสด็จเวสาลีครั้งสุดท้ายก่อนปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงรับสวนมะม่วงของนางอัมพปาลีคณิกา หญิงงามเมืองแห่งเวสาลี ซึ่งนางได้อุทิศถวายให้เป็นสังฆารามในพระศาสนา​ พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุวคาม ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์และเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้วได้ 100 ปี ได้มีการทำสังคายนา ครั้งที่สอง ณ วาลุการาม ซึ่งสถานที่ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในเวสาลี แคว้นวัชชี

5​ แคว้น​ที่เจริญ​รุ่งเรือง​และ​สำคัญ​ที่สุดในชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลรวมถึง​ทั้งหมด​ 16 แคว้นใหญ่ คือ อังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ และแม้อีก 5 แคว้นเล็ก คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ ปัจจุบันแคว้นทั้งหมดเหลือเพียงตำนานอันเกรียง​ไกรและชื่อเสียง​เกียรติภูมิของความเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การค้าขาย, วัฒนธรรม​และประวัติศาสตร์ความรุ่งเรือง​ของ​พระพุทธ​ศาสนา​ที่ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป.

Cr : เพจ IPeace Meditation Centre

ไม่มีความคิดเห็น