ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

พุทธประวัติ (ฉบับย่อ)


#มหาสุบินนิมิตร


การฝึกฝนอบรมใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง หมั่นน้อมนำใจเข้าไปหยุดอยู่ที่ต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนกระทั่งพบพระธรรมกายภายใน กาย วาจา ใจของเราจะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของรอบตัวเรา จะพลอยได้รับพลังมวลแห่งความบริสุทธิ์จากตัวเรา เหมือนกลิ่นหอมของบุปผาที่ฟุ้งขจรขจายไปในบรรยากาศ ย่อมเป็นที่ปรารถนา ที่ชื่นใจของคนทั้งมวล ผู้มีธรรมะเป็นอาภรณ์จะเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวาทั้งหลาย ดังนั้นธรรมะจึงเป็นอาภรณ์ประดับกาย วาจา ใจที่อมตะมั่นคงที่สุด ที่จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมกัน เราจะได้เป็นผู้มีธรรมะเป็นอาภรณ์ สมบัติอันล้ำค่านี้กันทุกคน

พระบรมศาสดาได้ตรัสอานิสงส์ของการนอนหลับอย่างมีสติ ไว้ในพระวินัยปิฎกว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัวอยู่ ย่อมหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย หรือหากฝันก็ฝันแต่เรื่องที่เป็นสิริมงคล เทวดาจะลงปกปักรักษา”

การนอนหลับในทางการแพทย์ ถือว่าเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด ที่จะทำให้สุขภาพร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า อวัยวะทุกส่วนได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่สมองเรื่อยไปถึงประสาททั้งห้าจะหยุดทำงานชั่วคราว เหมือนรถยนต์หรือเครื่องจักรที่ใช้งานไปได้ระดับหนึ่งก็ต้องพักเครื่อง เพื่อฟื้นคืนสภาพหรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จะได้ยืดเวลาการใช้งานออกไปได้นานๆ ร่างกายนี้จำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนเช่นเดียวกัน เพราะถ้าไม่ได้หยุดพัก ไม่ช้าระบบต่างๆ ภายในร่างกายจะรวน ทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องรู้จักรักษาสุขภาพ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ได้มากที่สุด นั่นคือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนประสาทตา ประสาทหู พักระบบกล้ามเนื้อ หยุดการเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ กระทั่งหยุดความคิด คำพูด และการกระทำทุกอย่าง

สำหรับผู้ที่นอนแล้วฝันเป็นประจำนั้น ตามปกติมักมีสาเหตุหลักๆ ๔ ประการ คือ เพราะธาตุกำเริบ เช่นรับประทานอาหารมากเกินไป หรืออวัยวะภายในปั่นป่วน เมื่อธาตุกำเริบ จึงทำให้ฝันไปในทำนองที่ว่า ตกจากต้นไม้บ้าง ถูกสัตว์ร้ายไล่ตามบ้าง หรือฝันเห็นภูตผีปีศาจบ้าง พอตื่นขึ้นมาจะรู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อย เพราะธาตุในร่างกายไม่ปกติ และนอนไม่อิ่มเพราะฝันร้าย บางครั้งจดจำอะไรไม่ได้เลยก็มี แต่รู้สึกว่าเหนื่อยและเพลีย

ความฝันเพราะจิตอาวรณ์ คือ มีความกังวลในธุรกิจการงาน และผู้คนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อนอนหลับจึงฝันถึงเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร ถ้าหากก่อนนอน นั่งสมาธิ(Meditation)และแผ่เมตตาเป็นประจำ ทำใจให้สงบ เป็นผู้มีอารมณ์ดี อารมณ์สบาย เมื่อนอน เราก็จะหลับอย่างมีความสุข ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ไม่ได้เก็บเรื่องราวที่คับใจไปกังวลต่อในเวลาหลับ สำหรับผู้ฝันเพราะเทพดลใจ ทวยเทพมักจะมาบันดาล บอกเหตุต่างๆ หรือประสงค์ร้ายก็มี ทำให้เราฝันเห็นภาพที่เทวดาเขาปรารถนาอยากให้เราเห็น สำหรับความฝันประการสุดท้าย คือ ฝันเพราะเป็นบุพนิมิต ซึ่งบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าจะประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เพราะได้ทำบุญกุศลเอาไว้ในชาติปางก่อนมามาก บุญบันดาลให้เห็นภาพในอนาคตว่าจะมีความสำเร็จต่างๆ เกิดขึ้น

ในเรื่องของความฝันที่เป็นบุพนิมิตนี้ มีตัวอย่างของพระชนนีของพระบรมโพธิสัตว์ มาเล่าให้ทุกท่านได้รับฟังกัน เรื่องมีอยู่ว่า

* พระนางสิริมหามายาได้อธิษฐานองค์อุโบสถแล้วเสด็จเข้าห้องอันมีสิริ บรรทมบนเตียง เมื่อหลับทรงพระสุบินว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทรงยกพระองค์พร้อมทั้งที่บรรทมนำไปยังสระอโนดาต เพื่อสรงสนานชำระล้างมลทินของสรีระ แล้วให้นุ่งห่มผ้าทิพย์ รักษาศีลอยู่ในวิมานทอง มีช้างเผือกเชือกหนึ่งได้เที่ยวไปบนภูเขาทองลูกหนึ่ง พอลงจากภูเขาทองก็ขึ้นสู่ภูเขาเงิน มาจากทิศอุดรแล้วเยื้องกรายเข้าไปที่วิมานทองกระทำประทักษิณพระมารดาแล้วก็เข้าไปสู่พระครรภ์

เมื่อพระนางตื่นจากบรรทมแล้ว ได้ทูลพระสุบินแด่พระราชา พราหมณ์ปุโรหิตของพระราชาได้กราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย พระเทวีของพระองค์ทรงตั้งพระครรภ์ จะได้พระโอรสผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ถ้าพระโอรสจักอยู่ครองเรือน ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจักเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ" ซึ่งพราหมณ์เหล่านั้นทำนายได้ถูกต้องทีเดียว เพราะตรงเวลากับที่พระโพธิสัตว์ผู้มีสติและสัมปชัญญะ จุติจากชั้นดุสิตเข้าสู่ครรภ์ของพระมารดา

* นอกจากนี้ยังมีมหาสุบิน ๕ ประการ ซึ่งเกิดกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ในสมัยที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม พระพุทธองค์ทรงเก็บมหาสุบินนั้นเอาไว้ มิได้ทรงให้ใครทำนาย เมื่อตรัสรู้แล้วจึงทรงพยากรณ์ทำนายมหาสุบินของพระพุทธองค์เองให้เหล่าพระสาวกฟังว่า
มหาสุบินประการที่ ๑ ทรงพระสุบินว่า แผ่นดินใหญ่นี้เป็นที่นอนใหญ่ ภูเขาหิมพานต์เป็นหมอน มือซ้ายหย่อนลงในมหาสมุทรด้านทิศบูรพา มือขวาหย่อนลงในมหาสมุทรด้านทิศประจิม เท้าทั้งสองหย่อนลงในมหาสมุทรด้านทิศทักษิณ
มหาสุบินประการที่ ๒ ทรงพระสุบินว่า หญ้าคาได้ขึ้นจากพระนาภีของพระพุทธองค์ สูงขึ้นไปจรดท้องฟ้า
มหาสุบินประการที่ ๓ ทรงพระสุบินว่า มีหมู่หนอนมีสีขาวศีรษะดำไต่ขึ้นมาจากเท้าของพระพุทธองค์ แผ่ปกคลุมปกปิดตลอดถึงรอบๆ เข่า
มหาสุบินประการที่ ๔ ทรงพระสุบินว่า นก ๔ เหล่า มีสีต่างๆ กันบินมาจากทิศทั้งสี่ ตกลงแทบเท้าของพระพุทธองค์ แล้วกลับกลายเป็นสีขาวทุกตัว
มหาสุบินประการที่ ๕ ทรงพระสุบินว่า พระพุทธองค์เสด็จดำเนินขึ้นไปบนภูเขาคูถลูกใหญ่ แต่ไม่ได้แปดเปื้อนคูถเหล่านั้นเลย

พระพุทธองค์ทรงเก็บมหาสุบิน คือ ความฝันอันยิ่งใหญ่นั้นไว้ พอถึงเวลา ทรงนำมาเปิดเผยให้พวกเราได้รับทราบกันว่า พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์มหาสุบินว่าอย่างไรบ้าง มหาสุบินข้อแรกที่ตรัสว่า มหาปฐพีกลายเป็นที่นอนขนาดใหญ่ ขุนเขาหิมพานต์เป็นหมอน มือซ้ายหย่อนลงในมหาสมุทรด้านทิศบูรพา มือขวาหย่อนลงในมหาสมุทรด้านทิศประจิม เท้าทั้งสองหย่อนลงในมหาสมุทรด้านทิศทักษิณ นี้เป็นนิมิตให้ทราบว่า พระพุทธองค์จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และจะได้เป็นใหญ่ในโลกที่ไม่มีใครยิ่งกว่า

การที่หญ้าคาได้ขึ้นจากพระนาภีสูงขึ้นไปจรดท้องฟ้าตั้งอยู่ เป็นนิมิตให้ทราบว่า พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้อริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วทรงประกาศให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้รับทราบกันอย่างทั่วถึง ข้อที่หมู่หนอนมีสีขาวศีรษะดำ ได้ไต่ขึ้นจากเท้าของพระพุทธองค์ ปกปิดตลอดถึงชานุมณฑล หมายถึงว่า คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวจำนวนมาก ได้ถึงพระตถาคตเป็นสรณะตลอดชีวิต

การที่นก ๔ เหล่ามีสีต่างๆ กัน บินมาจากทิศทั้งสี่ ตกลงมาแทบเท้าแล้วกลับกลายเป็นสีขาวทุกตัวนั้น เป็นนิมิตให้ทราบว่า วรรณะทั้ง ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติอันยอดเยี่ยมเสมอเหมือนกันหมด และข้อที่พระพุทธองค์ทรงเดินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ แต่ไม่แปดเปื้อนคูถ แสดงว่า พระตถาคตเจ้าได้ลาภสักการะเป็นอันมาก แต่ไม่ลุ่มหลงไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ คือ ไม่ยึดติดในลาภสักการะเหล่านั้นเลย

นี่ก็เป็นมหาสุบินหรือความฝันอันยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ความฝันใดเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ความฝันนั้นเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ ฝันอยากให้ตนเองและสรรพสัตว์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นฝันที่ทำให้เป็นจริงได้ หลวงพ่อเองก็เป็นผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่ คือ ฝันอยากให้ชาวโลกเข้าถึงธรรมกาย ฝันอยากหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ หลุดพ้นจากพญามาร และนำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ ไปสู่ฝั่งนิพพานกันให้หมด จึงอยากให้ทุกท่านใฝ่ฝันกันอย่างนี้บ้าง อย่างนี้เรียกว่าฝันดี แล้วอย่าลืม ก่อนนอนให้นั่งธรรมะ และแผ่เมตตาให้เป็นประจำ เพราะใจที่สงบนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะหลับอย่างเป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข นอนหลับฝันดี เมื่อตื่นขึ้นมาก็มีความสดชื่น มีกำลังกายที่พร้อม มีสมองที่ปลอดโปร่ง พร้อมจะใช้สังขารนี้เป็นอุปกรณ์ในการสร้างบารมีต่อไป

Cr ; พระธรรมเทศนา โดย: หลวงพ่อธมฺมชโย
* มก. เล่ม ๒๓ หน้า ๕๔

* มก. เล่ม ๓๖ หน้า ๔๓๑

พระนางมหามายาเทวี ทรงบริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ ตลอด 10 เดือน เมื่อมีพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปยังเรือนแห่งพระญาติที่เทวทหนคร พระนางได้กราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชาทรงอนุญาตแล้ว มีรับสั่งให้ทำหนทางจากนครกบิลพัสดุ์จนถึงนครเทวทหะให้ราบเรียบ ให้ตกแต่งประดับประดาด้วยต้นกล้วย หม้อน้ำเต็ม และธงชาย ธงผ้า เป็นต้น ให้พระเทวีประทับนั่งในสีวิกาทอง ให้อำมาตย์พันคนหาม ทรงส่งพระนางไปด้วยข้าราชบริพารกลุ่มใหญ่
ระหว่างทางได้ผ่านสวนชื่อ ลุมพินี ในสมัยนั้น ต้นสาละออกดอกบานสะพรั่ง ตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง หมู่ภมร 5 สี และหมู่มวลนกนานัปการ ร่ำร้องกระหึ่มอยู่ด้วยเสียงอันไพเราะตามระหว่างกิ่งระหว่างดอกทั้งหลาย เป็นที่น่ารื่นรมย์ พระเทวีทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงมีพระประสงค์จะแวะชมสวน จึงเสด็จไปยังโคนต้นสาละอันเป็นมงคล เมื่อพระนางมีพระประสงค์จะทรงจับกิ่งใดกิ่งนั้นก็น้อมลงมาเองจนถึงฝ่าพระหัตถ์ ประหนึ่งยอดหวายที่ทอดลงอย่างอ่อนช้อย ฉะนั้น
ขณะที่พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น ลมกัมมัชวาตของพระนางก็เกิดปั่นป่วน ลำดับนั้น มหาชนจึงกั้นพระวิสูตรแก่พระนางแล้วหลีกไป พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั้น พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนาง
ในขณะนั้นเอง ท้าวมหาพรหม 4 พระองค์ ก็ถือข่ายทองมารองรับพระโพธิสัตว์วางไว้เบื้อง พระพักตร์พระชนนี ทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ขอพระองค์ทรงดีพระทัยเถิด พระราชบุตรของพระองค์ ผู้มีศักดาใหญ่อุบัติขึ้นแล้ว ก็สัตว์อื่นๆ เมื่อออกจากครรภ์มารดา ย่อมแปดเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูล แต่พระโพธิสัตว์นั้นเหยียดพระหัตถ์ทั้งสอง และพระบาททั้งสอง ยืนออกจากพระครรภ์ของพระชนนีประดุจพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาดไรๆ ที่มีอยู่ในพระครรภ์ของพระชนนี สะอาดบริสุทธิ์ รุ่งโรจน์ประดุจแก้วมณี ที่เขาวางไว้บนผ้ากาสิกพัสตร์ ฉะนั้น สายธารแห่งน้ำสองสายพลุ่งออกมาจากอากาศ โสรจสรงพระสรีระของพระโพธิสัตว์และพระชนนี เพื่อเป็นสักการะแด่พระโพธิสัตว์และพระชนนี
ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้งสี่พระองค์ ได้รับพระโพธิสัตว์นั้นจากหัตถ์ของท้าวมหาพรหมผู้ยืนเอาข่ายทองคำรับอยู่ ด้วยเครื่องลาดอันทำด้วยหนังเสือดาวที่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ซึ่งสมมติกันว่าเป็นมงคล ต่อมาพวกมนุษย์ก็เอาพระยี่ภู่ที่ทำด้วยผ้าทุกูลพัสตร์ (เบาะผ้าเนื้อดี) รับจากหัตถ์ของท้าวมหาราชเหล่านั้น พอพ้นจากมือของมนุษย์ พระโพธิสัตว์ก็ประทับยืนบนแผ่นดิน ทอดพระเนตรดูทางทิศตะวันออก จักรวาลนับได้หลายพันได้เป็นดุจลานอันเดียวกัน พวกเทวดาและมนุษย์ในที่นั้นต่างพากันบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาบุรุษ ผู้ที่เสมือนกับพระองค์ในที่นี้ไม่มี
พระโพธิสัตว์ทรงมองตรวจดูทิศใหญ่ทิศน้อยตลอดทั้ง 10 ทิศ ก็มิได้ทรงเห็นผู้ที่เสมือนกับพระองค์ จึงบ่ายพระพักตร์มุ่งสู่ทิศอุดร เสด็จโดยย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร ท้าวสุยามะเทวบุตรถือพัดวาลวิชนี เทวดาเหล่าอื่นถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่เหลือเดินตามเสด็จ เมื่อดำเนินก็ดำเนินไปบนพื้นดินนั่นแหละ ไม่มีผ้าปกปิด แต่ปรากฏแก่สายตาของมหาชนเหมือนทรงดำเนินไปทางอากาศเหมือนประดับตกแต่งพระองค์ และเหมือนมีพระชนมายุ 16 ขวบ ฉะนั้น
จากนั้นประทับยืน ณ พระบาทที่ 7 ทรงบันลือสีหนาท เปล่งอาสภิวาจา คือ วาจาอันองอาจว่า
“ อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ. เราเป็นผู้เลิศของโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดอีกมิได้มี”
ในการประสูติของบรมโพธิสัตว์ เป็นเหตุอันอัศจรรย์ยิ่ง ยังโลกธาตุสะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นหวั่นไหว เป็นการแสดงความยินดีปรีดาที่ผู้มีบุญญาได้มาบังเกิดในมนุษยโลกนอกจากนี้ ความอัศจรรย์ยังมิได้หมด ยังมีสิ่งคู่บุญที่เกิดร่วมกับพระองค์ ในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี กล่าวไว้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 7 สิ่ง คือ
1. พระนางพิมพา
2. เจ้าอานันทะ
3. ฉันนะอำมาตย์
4. กาฬุทายีอำมาตย์
5. พญาม้ากัณฐกะ
6. ต้นมหาโพธิ์พฤกษ์
7. ขุมทรัพย์ทั้ง 4 ขุม

ในสมัยนั้น ยังมีชฎิลดาบสท่านหนึ่งมีนามว่า กาฬเทวิลดาบส ได้สำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ มีฤทธิ์มาก ตามปกติ ท่านจะเหาะขึ้นไปสู่เทวโลกแล้วสถิตพักกลางวันที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ วันนั้น ท่านได้ยินเสียงสาธุการของเหล่าทวยเทพทั้งหลาย จึงเข้าไปไต่ถามเทวดาดู ครั้นรู้ว่า พระมหาบุรุษประสูติจากพระครรภ์ของพระชนนี และต่อไปจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านมหาฤๅษีได้ฟังเช่นนั้น ก็พลอยปีติดีใจไปด้วย จึงรีบเหาะทะยานลงมาจากดาวดึงส์ บรรลุถึงราชนิเวศน์ในเวลาเย็น แล้วถวายพระพรถามว่า

“ได้ยินข่าวว่า พระราชบุตรของบรมบพิตรประสูติแล้วหรือ อาตมาจะขอชมบารมีพระราชกุมาร ขอถวายพระพร” พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช จึงรับสั่งให้เชิญพระราชโอรสทรงอาภรณ์ แล้วนำมาให้น้อมพระองค์ลง เพื่อนมัสการท่านกาฬเทวิลดาบสผู้ทรงฌานอภิญญา มีฤทธิ์มีเดชแก่กล้าเหนือมนุษย์สามัญ

ขณะนั้นเอง สิ่งที่อัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น พระยุคลบาทของพระราชกุมารกลับไปตั้งอยู่บนชฎาของท่านกาฬเทวิลมหาฤๅษี ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะบุญญานุภาพของพระโพธิสัตว์ผู้เกิดในปัจฉิมชาติ ไม่มีใครที่สมควรจะให้พระองค์ไปอภิวาท ถ้าพระบรมโพธิสัตว์น้อมเศียรลงเพื่อกราบไหว้บุคคลใด ศีรษะของบุคคลนั้น ก็จะแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง เมื่อท่านดาบสเห็นเหตุการณ์ดังนั้น ก็สะดุ้ง และลุกขึ้นจากอาสนะคุกเข่าลงกระทำอัญชลีประคองรับเอาพระบาทของพระกุมาร เมื่อพระราชบิดาได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ก็น้อมเศียรลงนอบน้อมพระกุมารด้วยความปลื้มปีติตามกิริยาที่ท่านมหาฤๅษีกระทำกับพระกุมาร

ท่านกาฬเทวิลดาบสเป็นผู้มีความเมตตาอย่างไม่มีประมาณและมีฌานแก่กล้า ท่านสามารถระลึกชาติได้ถึง ๘๐ มหากัป คือ ระลึกชาติในอดีตได้ ๔๐ มหากัป และระลึกชาติในอนาคตได้ ๔๐ มหากัป ฉะนั้น เมื่อท่านมหาฤๅษีพิจารณาลักษณะของพระโพธิสัตว์เจ้าแล้ว ก็รู้ว่าจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าอย่างแน่นอน จึงดำริว่า“พระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ เป็นอัจฉริยมนุษย์ จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน” แล้วท่านมหาฤๅษีผู้มีฤทธิ์ก็แย้มโอษฐ์ด้วยความชื่นชมปีติยินดี แต่เมื่อพิจารณาด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นแจ้งประจักษ์ชัดว่า

ตัวท่านเองนี้มีบุญน้อยจะตายเสียก่อน มิทันจะได้อยู่เห็นพระราชกุมารนี้ ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เพราะอายุขัยของท่านจะสิ้นเสียก่อน และรู้คติของตัวว่าจะขึ้นไปอุบัติเป็นอรูปพรหมอยู่ในอรูปภพ และถึงแม้จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้สัก ๑๐๐ พระองค์ ๑,๐๐๐ พระองค์ ท่านก็ไม่สามารถลงมาเกิดสร้างบารมีได้ การที่ท่านรู้ ท่านเข้าใจทุกอย่าง แต่ไม่มีโอกาสอยู่สร้างบารมีกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทันได้อยู่ฟังธรรมอันประเสริฐจากพระพุทธองค์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้เสื่อมจากอุดมลาภ คือ มรรคผลและอมตมหานิพพานอันประเสริฐอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก

คิดเช่นนี้แล้ว ท่านมหาฤาษีก็ร้องไห้ด้วยความเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อพระราชาและเหล่าราชบุรุษเห็นอาการปลาบปลื้มปนร้องไห้ของท่านมหาฤๅษี ต่างเกิดความสงสัย ครั้นท่านมหาฤๅษีเมตตาเฉลยความสงสัยของมหาชนที่เข้ามาห้อมล้อมให้ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว ก็อำลาจากไปด้วยความปีติพร้อมกัน ความเสียดายที่ท่านมีอายุขัยไม่ถึง

บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น 7 ท่านพยากรณ์เป็นสองส่วนว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ เมื่อยู่ครองฆราวาสวิสัยจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อผนวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่พราหมณ์ ชื่อ โกณฑัญญะ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าพราหมณ์เหล่านั้นทุกคน ได้พยากรณ์เป็นส่วนเดียวว่า ท่านผู้นี้ไม่มีเหตุที่จะดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย จักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงปราศจากกิเลสโดยส่วนเดียวเท่านั้น

ครั้งนั้น พระประยูรญาติ เมื่อถือพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น จึงเฉลิมพระนามว่า สิทธัตถะ เพราะทรงทำความสำเร็จแก่โลกทั้งปวง พระราชาทรงสดับคำของพราหมณ์บัณฑิตเหล่านั้นแล้วตรัสถามว่า บุตรของเราเห็นอะไรจึงจะผนวช พราหมณ์เหล่านั้นทูลว่า เห็นนิมิต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระราชาจึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า จำเดิมแต่นี้ไปพวกท่านจงอย่าได้ให้นิมิตเหล่านั้นเข้าไปในสำนักแห่งบุตรของเรา เราไม่ต้องการให้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้า เราต้องการเห็นบุตรของเราครอบครองราชสมบัติจักรพรรดิปกครองทวีปใหญ่ทั้ง 4 ซึ่งมีทวีปเล็กสองหมื่นเป็นบริวารห้อมล้อมด้วยบริษัทอันมีปริมณฑล 36 โยชน์ เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงมีรับสั่งให้วางอารักขาไว้ในที่ทุกๆ คาวุตในทิศทั้งสี่ เพื่อจะห้ามมิให้บริษัท 4 มีคนแก่เป็นต้น เข้ามาปรากฏในสายตาของพระกุมาร

พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกลับถึงเรือนของตนแล้ว ต่างพากันเรียกบุตรมาสั่งว่า นี่แนะพ่อทั้งหลาย พวกเราแก่แล้ว จะทันได้เห็นพระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือไม่ก็ไม่รู้ ฉะนั้นเมื่อพระราชกุมารนี้ทรงผนวช บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พวกเจ้าพึงบวชในศาสนาของพระองค์เถิด พราหมณ์แม้ทั้ง 7 คนเหล่านั้น ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุขัยก็ตายไปตามยถากรรม โกณฑัญญะมาณพเท่านั้นไม่มีโรคภัยไข้เจ็บยังมีชีวิตอยู่

ภายหลังเมื่อพระโพธิสัตว์เติบโตเจริญวัยขึ้นแล้ว บุตรพราหมณ์เหล่านั้นได้ทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว โกณฑัญญพราหมณ์จึงได้กล่าวชักชวนบุตรของพราหมณ์เหล่านั้น ให้บวชตามคำสั่งของบิดา พวกเขาเหล่านั้นสามคนไม่บวช ที่เหลือสี่คนบวชตามพระมหาบุรุษ โดยตั้งให้โกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า พราหมณ์ทั้ง 5 คนนั้น จึงมีชื่อว่า พระปัญจวัคคีย์

ครั้งนั้น ตระกูลพระประยูรญาติแปดหมื่นตระกูล ประชุมกันในมงคลสถาน พระญาติแต่ละตระกูลก็ทูลปฏิญญาถวายโอรสตระกูลละองค์ ด้วยคิดว่า ถ้าพระสิทธัตถะกุมารนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า ก็จักมีขัตติยสมณะ คอยแวดล้อมจาริกไป แต่ถ้ากุมารนี้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็จักมีขัตติยกุมาร คอยแวดล้อมตามเสด็จไป

ฝ่ายพระนางเจ้ามายาผู้เป็นพระมารดา พอประสูติพระราชโอรสแล้วได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทน จึงทรงมอบพระราชโอรสนั้นให้พระนางปชาบดีโคตมี (พระมาตุจฉา) ดูแลต่อมา ผู้เป็นบัณฑิตเมื่อเห็นลักษณะอันประเสริฐของพระราชโอรส อันเกิดจากการสั่งสมความดีงามมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ย่อมทราบว่า เป็นลักษณะของผู้มีบุญที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเห็นถึงความสำคัญในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาที่จะได้เห็น ได้อยู่ใกล้ชิด แม้ตนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ย่อมปรารถนาให้บุตรได้อยู่ใกล้

เจ้าชายสัทธัตถะได้เจริญวัยขึ้นตามลำดับ ต่อมาวันหนึ่ง ได้มีพระราชพิธีวัปปมงคล (แรกนาขวัญ) พระราชาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากเสด็จออกจากพระนคร พระองค์ทรงพาพระราชโอรสไปด้วย ในที่ประกอบพระราชพิธี มีต้นหว้าอยู่ต้นหนึ่งมีใบหนาแน่น มีเงาทึบ พระราชาทรงรับสั่งให้ปูลาดพระแท่นบรรทมของพระราชโอรส ภายใต้ต้นหว้า แวดวงด้วยพระวิสูตร วางอารักขาให้พี่เลี้ยงนางนมนั่งห้อมล้อมพระโพธิสัตว์อยู่

ส่วนพระราชาเสด็จไปเพื่อจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในขณะที่ทรงไถ ณ ที่นั้นมีมหาสมบัติเกิดขึ้น พวกพี่เลี้ยงนางนมต่างพากันออกมาข้างนอก เพื่อจะดูสมบัติของพระราชา พระโพธิสัตว์ทรงแลดูข้างโน้นและข้างนี้มองไม่เห็นใครๆ จึงเสด็จลุกขึ้น ทรงนั่งขัดสมาธิ ยังปฐมฌานให้เกิด ฝ่ายพี่เลี้ยงนางนมรีบกลับมาด้วยคิดว่าพระลูกเจ้าประทับอยู่พระองค์เดียว จึงรีบเปิดพระวิสูตรขึ้น เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นบรรทม ได้เห็นปาฏิหาริย์ที่เงาของต้นหว้านั้นตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่ ได้พากันเข้าไปกราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระราชกุมารประทับนั่งอย่างนี้ เงาของต้นไม้ต้นอื่นคล้อยไปแล้ว แต่เงาของต้นหว้ายังคงตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่ พระราชารีบเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ นั้นจึงตรัสว่า นี่แนะพ่อ นี้เป็นการไหว้เจ้าครั้งที่สองแล้วทรงไหว้พระกุมาร

ต่อมา พระโพธิสัตว์มีพระชันษาได้ 16 พรรษา โดยลำดับ พระราชาทรงโปรดให้สร้างปราสาท 3 หลัง 3 ฤดู ทรงสถาปนาพระโพธิสัตว์ไว้ในสิริราชสมบัติ ทรงอภิเษก พระนางยโสธรา พระราชบุตรีของ พระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนครให้เป็นอัครมเหสี มีสตรีอีกสี่หมื่นนางเป็นนางสนม เสวยมหาสมบัติประทับอยู่ในปราสาท 3 หลัง เปลี่ยนไปตามฤดู

ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะนั้นเพียบพร้อมไปด้วยกามสุข ที่พระราชบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะได้วางไว้อย่างรัดกุม เพื่อที่จะมัดใจเจ้าชายไม่ให้เสด็จออกบรรพชา แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถทำให้เจ้าชายพึงพอใจและมีควาสุขกับสิ่งที่ตนเองมี จึงทำให้ตัดสินพระทัยออกจากพระราชวังด้วยความเบื่อหน่ายวงจรชีวิตที่จำเจและไม่มีความสุขอย่างแท้จริง

เมื่อพระชมมายุ 16 พรรษา พระราชบิดาทรงสร้างปราสาท 3 ฤดู ที่สวยงาม ให้ประทับอย่างสุขสบายดังอยู่ในสรวงสวรรค์ และทรงจัดการอภิเษกพระนางยโสธรา
พระราชธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงเทวทหะ ผู้ทรงมีความงามเป็นเลิศ มีลักษณะเบญจกัลยาณี ให้มาเป็นพระชายา ด้วยหวังจะโน้มน้าวให้เจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ครองราชสมบัติโดยไม่คิดออกบวช

ทรงแสดงศิปลวิทยาต่างๆ

ทรงอภิเษกสมรส


วันหนึ่ง ทรงเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตที่อยู่แต่เพียงภายในพระราชวัง จึงทรงรับสั่งให้นายสารถี (คนขับรถม้า) พาพระองค์ออกไปจากพระราชวัง ด้วยความรักที่นายสารถีมีต่อเจ้าชาย จึงไม่ขัดใจแต่ได้ขัดคำสั่งของพระเจ้าสุทโธทนะ ระหว่างทางที่พระองค์ทรงเสด็จทรงทอดพระเนตรทรงเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือ คนแก่ มีผมหงอก ถือไม้เท้า เดินไม่ค่อยไหว จึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า

“ นายสารถี นั่นเขาเรียกว่าตัวอะไรทำไมผมรูปร่างหน้าตาถึงเป็นแบบนั้น”

นายสารถีได้กราบทูลว่า “ นั่นเขาเรียกว่าคนแก่พระเจ้าข้า ถ้าข้าพระองค์มีอายุมากขึ้นผมที่เคยดำก็จะกลายเป็นสีขาว ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็จะอ่อนแรงลง ต้องใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยันไว้ ทุกคนก็ต้องเป็นแบบนี้พระเจ้าข้า” ภาพชายแก่คนนั้นทำให้เจ้าชายเสด็จกลับสู่พระราชวังด้วยความสลดพระราชหฤทัย

วันที่สอง ทรงเสด็จสู่พระราชอุทยานอีก ทรงทอดพระเนตรเห็นคนเจ็บนอนโทรมร้องครวญครางเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย จึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า “ คนนี้เป็นใครเขากำลังเป็นอะไร”
นายสารถีได้กราบทูลว่า
“ คนนี้เขาเรียกว่า คนเจ็บพระเจ้าข้า เมื่อร่างกายถูกโรคร้ายรุ่มเร้า ก็จะต้องนอนโทรมอยู่อย่างนี้” ภาพคนเจ็บทำให้พระหทัยของเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับสู่พระราชวังด้วยความรู้สึกหดหู่มากพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้นกว่าวันก่อน
วันที่สาม ทรงเสด็จสู่นอกพระราชวังอีก ทรงทอดพระเนตรเห็นคนตายนอนนิ่งเหมือนขอนไม้จึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า
“ นายสารถี คนนี้ทำไมถึงนอนแน่นิ่งเช่นนี้ล่ะ”
แล้วทำไมถึงมีคนร้องไห้ห้อมล้อมเขาอยู่อย่างนั้น นายสารถีได้กราบทูลว่า
“ นี่เขาเรียกว่าคนตายพระเจ้าข้า คนตายคือคนที่ไม่หายใจแล้ว เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ รอการเป็นอาหารของหนอนมาแทะกินพระเจ้าข้า แต่ว่าในโลกนี้ไม่มีใครเลยที่จะไม่ตายหรอกพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ก็ต้องตายเหมือนกัน ส่วนคนที่ร้องไห้อยู่นั้นเป็นญาติของคนที่ตายไปแล้วพระเจ้าคะ ร้องไห้คร่ำครวญกันประหนึ่งจะเรียกร้องให้ดวงจันทร์นั้นลงมาอยู่ในมือของตน ให้ได้เลยพระเจ้าข้า”
เจ้าชายสิทธัตถะทรงสลดพระราชหฤทัยหนักยิ่งขึ้นกว่าวันก่อนๆ วันที่สี่ วันนี้เป็นวันที่ท้องฟ้ากระจ่างใสอากาศก็สดใสกว่า 3 วันก่อน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นบุรุษห่มผ้าสีเปลือกไม้ใบหน้าผ่องใส ศีรษะไม่มีผมเดินมาด้วยอาการสงบสำรวม เจ้าชายจึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า
“ นายสารถี คนนั้นที่กำลังเดินอยู่นั่นเป็นใครทำไม่มีลักษณะไม่เหมือนคนทั่วไป”
นายสารถีจึงได้กราบทูลไปว่า
“ เขาเรียกว่านักบวชพระเจ้าข้า นักบวชจะเป็นผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการครองเรือน แต่จะแสวงหาวิธีการและหนทางที่จะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ที่ต้องเกิดแก่เจ็บ ตาย โดยการออกบวชพระเจ้าข้า” เจ้าชายได้ฟังเช่นก็มีความรู้สึก ปีติแช่มชื่นใจยิ่งนัก แม้รถม้าจะวิ่งผ่านไปไกลจากนักบวชคนนั้น แต่สายตาของพระองค์ก็มิได้ทรงละจากนักบวชรูปนั้นเลย ทรงเหลียวหลังทอดพระเนตรดูนักบวชคนนั้นด้วยความสุขใจ และทรงรำพึงขึ้นในใจว่า

”ชีวิตของนักบวชช่างดูสงบร่มเย็น เป็นชีวิตที่ไม่เหมือนคนทั่วไปเลย”

นับเป็นบุญบารมีในตัวของเจ้าชายสิทธัตถะโดยแท้ ที่ได้กระเตือนให้เห็นภัยจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงเกิดความเบื่อหน่ายสุดประมาณ ธรรมดาบุคคลทั่วไป เห็นความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องปกติ แม้พบเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำก็ไม่ได้คิด เพราะเหตุแห่งการสั่งสมปัญญายังไม่สมบูรณ์ ไม่อาจกระตุ้นเตือนให้เห็นภัย จากสิ่งเหล่านี้ได้ และยังคงติดอยู่กับโลกปัจจุบันที่ต้องทำมาหากินเพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้ ดำรงอยู่ได้ และในที่สุดก็ไม่อาจจะหลุดพ้นจากวัฏจักรนี้ไปได้

ห่วงเกิดขึ้แล้ว


ในค่ำคืนหนึ่ง ที่ปราสาทของเจ้าชายมีการขับร้องเต้นรำมีดนตรีเห่กล่อม เหมือนกับทุกคืนที่ผ่านมา แต่คืนนี้ ไม่มีเจ้าชายออกมาร่วมสนุกสนานเหมือนทุกคืนที่ผ่านมา พระองค์ทรงเข้าห้องบรรทมตั้งแต่หัวค่ำและทรงตื่นขึ้นในกลางดึกทรงทอดพระเนตร เห็นนางสนมทั้งหลายที่เคยงดงาม ในยามเต้นรำ นอนหลับใหลภายในห้องโถงนั้น บ้างคนก็อ้าปากน้ำลายไหลยืด ก่ายกันไปมา บ้างคนก็นอนกรน บ้างคนก็นอนละเมอ บ้างคนก็นอนจนผ้าหลุดลุ่ย พระองค์ทรงรำพึงในใจว่า

“ หญิงที่เคยงดงามเหล่านี้ บัดนี้ดูไม่แตกต่างไปจากซากศพที่กองเกลื่อนอยู่ในป่าช้า ชีวิตของการครองเรือนช่างน่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก ดูแต่นางทั้งหลายเหล่านี้ สักวันก็ต้องตายไป ร่างกายที่เคยงดงามก็จะต้องเน่าเปื่อยไปเป็นอาหารของหนอน ชีวิตทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนแต่ไม่มีอะไรยั่งยืนวันเวลาก็นำพาชีวิตไปสู่ความ ตายทุกวัน”

เจ้าชายทรงหันไปหยิบพระขันธ์ และเดินออกจากห้องโถงของปราสาทไปหานายฉันนะ ทรงรับสั่งให้นายฉันนะเตรียมม้ากัณฐกะ จากนั้นด้วย เยื่อใยแห่งความผูกพัน พระองค์ก็เสด็จไปยังห้องบรรทมของพระนางพิมพา เห็นพระนางนอนบรรทมกอดพระราหุลไว้ข้างพระวรกาย ใจหนึ่งก็อยากจะเข้าไปชื่นชมราหุลราชกุมารซึ่งเพิ่งประสูติ อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าพระนางพิมพาจะตื่น จึงทรงตัดใจจากมาอย่างเด็ดเดี่ยวและไม่เหลียวหลังกลับไปอีกเลย ทรงม้ากัณฐกะออกมาจากพระราชวัง กับนายฉันนะ พอเสด็จมาพ้นประตูพระราชวังเท่านั้น พญาสวัสวดีมาร (มารผู้มีจิตใจหยาบช้าชอบขัดขว้างคนไม่ให้ทำความดี) ได้พูดขึ้นมาว่า

“ เจ้าชายสิทธัตถะ ท่านอย่าเพิ่งออกบวชเลย อีก 7 วันข้างหน้า ท่านจะได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ มีสมบัติมากมายมหาศาล มีบริวารสุดจะนับประมาณได้ ท่านจะมีความสุขกับการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่จะหาผู้ใดทัดเทียมมิได้เลย”
เจ้าชายสิทธัตถะตรัสตอบพญามารไปว่า
“ อย่ามาห้ามเราเลยพญาสวัสวดีมาร เราตัดสินใจแล้ว สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิไม่มีความหมายสำหรับเราเลย ถ้าชาวโลกยังต้องทุกข์ทรมานกันอยู่ไม่รู้จักจบสิ้นเช่นนี้ หลีกไปซะ เราจะแสวงหาหนทางที่จะออกไปจากความทุกข์นี้ให้จงได้” สิ้นพระสุรเสียงของเจ้าชายสิทธัตถะพญามารก็ได้หายวับไปกับตา


จวบจนใกล้รุ่ง เจ้าชายได้เดินทางมาถึงแม่น้ำอโนมา ด้วยบุญญาธิการที่พระองค์เคยสั่งสมมาในอดีตชาติทำให้เทวดาที่สถิตย์อยู่ใน วิมานชั้นต่างๆ ต้องทิ้งวิมานเพื่อลงมาปกปักรักษา ให้เจ้าชายข้ามแม่น้ำ อโนมาไปด้วยความปลอดภัย พอพ้นเขตพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงลงจากหลังม้า ประทับนั่งบนหาดทรายขาวริมแม่น้ำอโนมา ทรงตรัสกับนายฉันนะว่า

“ ฉันนะ เราจะบวชเป็นบรรพชิต จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่นี้แสวงหาทางพ้นทุกข์”
สิ้นพระสุรเสียง พระองค์ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาโยนปอยผมไปบนอากาศ และตั้งจิตอธิษฐานว่า
“ ถ้าการออกบวชของเราในครั้งนี้จะทำให้เราได้ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอปอยผมนี้อย่าได้ร่วงลงสู่พื้นดินเลย แต่ถ้าไม่สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ขอให้ปอยผมนี้จงร่วงลงสู่ผืนดินด้วยเถิด”

ด้วยบุญญาธิการของเจ้าชายที่สั่งสมมาแล้วในอดีตชาติ เทวดาบนสรวงสวรรค์ต้องการจะเก็บรักษาปอยผมของเจ้าชาย จึงได้เอาพานแก้วมารองรับปอยผมของพระองค์ไม่ให้ร่วงลงสู่ผืนดินเมื่อเจ้าชาย เห็นว่าปอยผมของพระองค์นั้นลอยอยู่บนอากาศไม่ได้ร่วงลงสู่ผืนดิน ทรงมีพระทัยปีติเบิกบาน มีพระกำลังใจยิ่งนัก

ขณะนั้นเองฆฏิการพรหม (เป็นพรหมชั้นสุทธาวาส) ได้นำผ้าสีย้อมน้ำฝาด พร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขาร มีบาตรเป็นต้นมาถวายเจ้าชาย นายฉันนะเมื่อเห็นเจ้าชายครองผ้าสีย้อมน้ำฝาดแทนชุดเจ้าชายที่เคยสวมใส่ ก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เจ้าชายสิทธัตถะ บัดนี้ได้การมาเป็นสมณะสิทธัตถะผู้ไม่มีบ้านเรือนอีกต่อไป ชีวิตที่เคยเพียบพร้อมไปสละทุกอย่าง บัดนี้เหลือเพียงผ้าของนักบวชที่ห่อหุ้มพระวรกาย สมณะสิทธัตถะเห็นนายฉันนะ นั่งร่ำไห้อยู่ จึงตรัสด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมพระเมตตาไปว่า

“ ฉันนะ อย่าได้ร้องไห้เลยเราไม่ได้ตายจากไปไหน เพียงแค่เราเปลี่ยนสถานะภาพจากเจ้าชายมาเป็นนักบวชที่จะแสวงหาความจริงของ ชีวิตเท่านั้น ฉันนะจงนำอาภรณ์ชุดเจ้าชายที่เราเคยสวมใส่นี้ กลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ด้วย และกราบทูลเสด็จพ่อ พระมาตุฉา ด้วยว่า เมื่อใดที่เราได้สำเร็จวิชชาแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ได้แล้ว เราจะกลับไปหาท่านทั้งสอง”

นายฉันนะได้จ้องมองพระพักตร์ของสมณะสิทธัตถะด้วยแววตาอาลัยอาวรณ์ยิ่งนัก แต่ก็ต้องถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ลาจากไป ฉันนะก้มกราบพระบาทของสมณะสิทธัตถะ และจูงม้ากัณฐกะออกเดินทางจากริมฝั่งน้ำอโนมาย้อนกลับมาเส้นทางเดิมที่เคยมี เจ้าชายเสด็จมาด้วย แต่บัดนี้ไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะอีกแล้ว

ม้ากัณฐกะไม่ได้ละสายตามาจากสมณะสิทธัตถะเลย ยังมองด้วยความรักและอาลัยอาวรณ์ยากที่จะพรรณนาออกมาได้ จวบจนกระทั่งภาพของสมณะสิทธัตถะค่อยๆ เลือนลาง และพ้นไปจากสายตา ม้ากัณฐกะก็ล้มลงขาดใจตายด้วยความรักความผูกพันอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อสมณะสิ ทธัตถะ นายฉันนะจึงต้องเดินทางกลับนครกบิลพัสดุ์เพียงลำพัง ข่าวการหายตัวของเจ้าชายและนายฉันนะได้ดังไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ จนกระทั่งนายฉันนะได้เดินทางกลับมาถึง และได้ไปกราบถวายบังคมทูลเรื่องทั้งหมดต่อพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ

เจ้าชายสิทธัตถะผู้เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมยิ่งด้วยโลกิยทรัพย์ ใคร่ปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สมพระทัย หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เห็นเทวทูตทั้ง 4 แม้ชีวิตของพระองค์จะยังวนเวียนอยู่ในกามคุณที่เพียบพร้อม แต่ในพระทัยทรงเบื่อหน่ายยิ่ง ใคร่แสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นตลอดเวลา จนในที่สุดพระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัย สละราชสมบัติ พระชายา พระราชาโอรสอันเป็นที่รักยิ่ง แต่เพื่อสัพพัญญุตญาณอันเป็นที่รักยิ่งกว่า ก็ไม่อาจจะอยู่เยี่ยงนี้ได้ตลอดไป ทรงมีพระทัยเด็ดเดี่ยวยิ่ง ดุจลูกธนูที่ยิ่งออกจากแล่งย่อมไม่กลับมา เสด็จออกจากพระราชวัง แม้พญามารจะขวางกั้น กล่าวล่อลวงพระองค์ด้วยสมบัติจักรพรรดิ แต่ก็ไม่อาจจะเปลี่ยนพระทัยพระองค์ได้ ในที่สุดพระองค์ก็เข้าสู่วิถีแห่งการค้นความหลุดพ้น นับเป็นแบบอย่างแห่งความมุ่งดีงามโดยแท้


หลังจากที่ได้สละทุกสิ่งออกบวช ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาแห่งความปลอดโปร่งพระทัยยิ่งนัก เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญของสมณะสิทธัตถะที่เข้าใกล้วิถีแห่งความหลุดพ้นเข้าไป ทุกขณะ ทรงบำเพ็ญเพียรนั่งสมาธิอยู่ ณ ป่ามะม่วง ตำบลอนุปิยอัมพวัน ไม่ยอมฉันภัตตาหารตลอด 7 วัน วันที่ 8 จึงเสด็จออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ
พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นใหญ่ในแคว้น ทอดพระเนตรจากบนปราสาท เห็นลักษณะอันงดงามและสำรวมของสมณะนั้น จึงได้ส่งราชบุรุษไปสืบข่าว ต่อมาเมื่อทราบถึงจริยวัตรของสมณะนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา คิดจะแบ่งสมบัติให้เพราะเข้าใจผิดคิดไปว่า สมณะนี้เป็นเจ้าชาย ออกบวชด้วยเหตุแห่งความขัดแย้งกันในราชสมบัติ แต่สมณะสิทธัตถะทรงปฏิเสธราชสมบัติของพระเจ้าพิมพิสาร เพราะพระองค์ทรงสละราชย์สมบัติออกบวช จึงไม่มีความปรารถนาในราชย์สมบัติอีกต่อไป และได้รับปฏิญญาว่าจะกลับมาโปรดพระเจ้าพิมพิสารหากตรัสรู้แล้ว


ในแคว้นมคธมีสำนักเจ้าลัทธิมากมาย แต่มี 2 สำนักที่มีชื่อเสียง สมณะสิทธัตถะจึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะชี้แนะแนวทางแห่งความหลุดพ้นได้ จนในที่สุดได้ร่ำเรียนอยู่ในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ใช้เวลาไม่นานก็สำเร็จสมาบัติ 7 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 3 อันเป็นความรู้สูงสุดของอาจารย์ แต่ก็ยังไม่พบสิ่งที่พระองค์ต้องการ จึงไปสู่สำนักของอุทกดาบส รามบุตร ใช้เวลาศึกษาไม่นาน ก็สำเร็จสมาบัติ 8 เป็นอันเป็นผลสูงสุดของอาจารย์อีกเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ทรงพบสิ่งที่พระองค์ทรงค้นหา ตัดสินพระทัยค้นหาธรรมด้วยพระองค์เอง

เมื่อได้ศึกษาหาความรู้ในสำนักอาจารย์ทั้ง 2 แล้ว ไม่พบหนทางพ้นทุกข์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะค้นหาวิธีการด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเชื่อมั่นในบุญบารมีของพระองค์ และทรงมั่นใจในการพยากรณ์และการเสี่ยงทายอธิษฐานด้วยอีกประการหนึ่ง จึงลาอาจารย์อุทกดาบสจากไป เพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์

หลังจากพระโพธิสัตว์ได้หลีกออกจากสำนักของอุทกดาบสแล้ว ก็ได้แสวงหนทางพ้นทุกข์ที่พระองค์ปรารถนา คือ พระนิพพาน อันเป็นความสงบ ไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดยลำดับ จนดำเนินไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระองค์ได้พบสถานที่ที่เหมาะสม สมควรแก่การบำเพ็ญเพียร เป็นราวป่าที่น่าเพลิดเพลินใจมีแม่น้ำไหลไม่ขาดสาย มีน้ำใสสะอาด มีท่าน้ำสะอาดดี มีบ้านสำหรับเที่ยวภิกษาโดยรอบ จึงได้พักอยู่ในสถานที่นั้น

เมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ในสถานที่นั้นอุปมา 3 ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งไม่เคยได้ยิน ไม่เคยทราบมาก่อน ได้ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ ซึ่งอุปมาทั้ง 3 ข้อนั้น มีเนื้อความดังนี้ 2)

อุปมาข้อที่ 1 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละไม่ได้ และยังให้สงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า

อุปมาข้อที่ 2 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละไม่ได้ และยังให้สงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า

อุปมาข้อที่ 3 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ไม่เสน่หาในกาม ไม่หลงอยู่ในกาม ไม่กระหายในกาม ไม่มีความเร่าร้อนในกาม ทั้งละได้และให้สงบระงับได้ในภายในแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็สามารถสีไฟให้เกิดขึ้นมา เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ

เมื่ออุปมาทั้ง 3 ข้อเกิดขึ้นแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดความคิดที่จะบำเพ็ญทุกรกิริยา เพื่อแสวงหาแนวทางตรัสรู้ โดยมีปัญจวัคคีย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยคิดว่า “ ถ้าสมณะสิทธัตถะบรรลุธรรมแล้ว จะได้สั่งสอนพวกตนให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง” การบำเพ็ญทุกรกิริยานี้จะได้แสดงเป็นวาระตั้งแต่ต้นตามที่ปรากฏ ดังต่อไปนี้

วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (ใช้ฟันบนฟันล่างขบกันให้แน่น) และกดพระตาลุด้วยพระชิวหาให้แน่น(ใช้ลิ้นดันกดเพดานปาก) ทรงกระทำนานเข้า บังเกิดทุกขเวทนาแรงกล้าจนเหงื่อไหลออกจากรักแร้ แม้พระวรกายจะปวดร้าวเพียงใด พระองค์ยังคงรักษาพระหฤทัยไว้ได้มั่นคง ทรงมีพระสติตั่งมั่น ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้ ทรงเปลี่ยนวิธีการ

วาระที่สอง ทรงกลั้นลมอัสสาสะ และปัสสาสะ คือ ทรมานด้วยการผ่อนลมหายใจเข้าออกให้ลมเดินได้ทีละน้อย เมื่อลมหายใจออกทางจมูกและปากไม่สะดวก ถูกอั้นไว้นานเกิดแรงดันดังอู้ ในช่องหู เกิดอาการปวดศีรษะ เสียดท้อง เกิดความเร่าร้อนกายเป็นกำลัง กระนั้นยังมีสติแจ่มใส พิจารณาแล้วทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้แน่ จึงเปลี่ยนวิธีการ

วาระที่สาม ทรงทรมานอย่างยิ่งยวดด้วยอดพระกระยาหาร โดยการเสวยให้น้อยลงทุกวัน จนไม่เสวยเลย มีพระวรกายแห้งเหี่ยว พระฉวีเศร้าหมอง จนมองเห็นพระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงเอามือลูบพระวรกาย พระโลมา (ขน) ก็ร่วงหล่นลงมา พระกำลังอ่อนล้ายิ่ง แต่ยังคงมีพระสติมั่น


หลังจากที่ได้บำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมตามที่ปรารถนาได้กลับได้รับแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ได้เกิดความคิดว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ในอนาคต และในปัจจุบันนี้ ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้ แต่ถึงบำเพ็ญด้วยความเพียรอย่างยิ่งดังนี้ ก็ไม่ได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันพิเศษกว่าธรรมของมนุษย์ จึงเห็นว่าน่าจะไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทางตรัสรู้น่าจะเป็นอย่างอื่น

ต่อจากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ได้หวนลำลึกถึงเมื่อครั้งงานแรกนาขวัญของพระราชบิดา เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ทรงประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น ทรงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปิติและมีสุข เกิดแต่วิเวก พระองค์จึงได้ตกลงว่าทางนั้นจะพึงเป็นทางเพื่อตรัสรู้ได้ และพระองค์ก็ถามตนเองว่า ควรกลัวต่อความสุขที่สงัดจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลายหรือไม่ และตอบด้วยพระองค์เองว่า พระองค์ไม่กลัวต่อความสุขนั้น แต่ว่าความสุขนั้น คนที่มีร่างกายซูบผอมมาก ไม่สามารถจะทำให้บรรลุได้ ทางที่ดีควรบริโภคอาหารหยาบ และสุดท้าย พระองค์ก็ได้ตกลงใจว่าจะบริโภคอาหารหยาบ จากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็เริ่มบริโภคอาหารหยาบ และเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป


ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้เฝ้าคอยอุปัฏฐากมาตลอด 6 ปีที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยหวังว่า “ พระสมณะสิทธัตถะบรรลุธรรมแล้ว จะได้บอกธรรมนั้นแก่พวกเรา” แต่บัดนี้ สมณะนี้กลับเลิกล้มความเพียร กลับมักมากในกามคุณ จึงเสื่อมศรัทธาหนีกลับไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

ข้าวมธุปายาส
พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้จัก "มธุปายาส" ซึ่งเป็นอาหารโบราณตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจากเรื่องราวในพุทธประวัติ โดยมีนางสุชาดาเป็นผู้ปรุงถวายพระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หนังสือ "พระปฐมสมโพธิกถา" พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสมีกล่าวอรรถาธิบาย ขั้นตอนในการหุงข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาไว้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ถอดความได้ดังนี้

"ก่อนที่จะถึงวันวิสาขปุรณมี เพ็ญเดือนหกนางสุชาดาก็ใช้ให้บุรุษทาสีกรรมการทั้งหลายเอาฝูงแม่โคจำนวน 1000 ตัว ไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ เพื่อให้แม่โคทั้งหมดได้บริโภคเครือชะเอม อันจะทำให้น้ำนมมีรสหวานหอม"แล้วแบ่งโคนมออกเป็น 2 พวก พวกละ 500 ตัว เพื่อรีดเอาน้ำนมจากแม่โค 500 ตัวในกลุ่มแรกมาให้แม่โคอีก 500 ตัว ในกลุ่มหลังบริโภค

ครั้นแล้วก็แบ่งแม่โคในกลุ่มหลังจำนวน 500 ตัว ออกเป็น 2 พวก ๆ ละ 250 ตัว แล้วรีดเอาน้ำนมแม่โค 250 ตัวจากกลุ่มแรกมาให้แม่โคอีก 250 ตัว ในกลุ่มหลังบริโภค กระทำการแบ่งกึ่งกันเช่นนี้ลงมาทุกชั้น ๆ จนเหลือ 16 ตัว แล้วแบ่งออกเป็น 2 พวก พวกละ 8 ตัว นำน้ำนมของแม่โค 8 ตัวแรกมาให้อีก 8 ตัวสุดท้ายบริโภค ทำเช่นนี้เพื่อจะให้น้ำนมของแม่โค 8 ตัวที่เหลือมีรสหวานอันเลิศจนกระทั่งเหลือแม่โคที่จัดไว้ใช้ 8 ตัว

ในคืนก่อนวันเพ็ญเดือน 6 หนึ่งวัน นางจึงนำภาชนะมารองเพื่อเตรียมจะรีดน้ำนมใส่ลง ขณะนั้นน้ำนมก็ไหลออกมาเอง จนเต็มภาชนะเป็นมหัศจรรย์ปรากฏ นางสุชาดาเห็นดังนั้น ก็รู้สึกปีติยินดีเข้ารับภาชนะซึ่งรองน้ำนมนั้นด้วยมือตน นำมาเทลงในภาชนะใหม่แล้วใส่ลงในกระทะนำขึ้นตั้งบนเตา ใส่ฟืนเตรียมก่อเพลิงด้วยตนเอง

เวลานั้นสมเด็จอัมรินทราธิราชก็เสด็จลงจุดไฟให้โชติช่วงขึ้น ท้าวมหาพรหมทรงนำทิพย์เศวตฉัตร มากางกั้นเบื้องบนภาชนะที่หุงมธุปายาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง4 ได้มาประทับยืนรักษาเตาไฟทั้ง 4 ทิศ เหล่าเทพยดาทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ ต่างพากันนำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์มาโปรย ใส่ลงในกระทะด้วย เมื่อน้ำนมเดือดก็ปรากฏเป็นฟองใหญ่ไหลเวียนขวาทั้งสิ้น จะกระเซ็นตกลงพื้นแผ่นดินแม้นสักหยดหนึ่งก็ไม่มี

ครั้นสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ดี นางจึงนำมาบรรจุลงในถาดทองคำข้าวมธุปายาสอันหุงเสร็จเรียบร้อยก็พอดี ไม่มีพร่อง ไม่มีเกิน แล้วปิดฝาด้วยถาดทองอีกใบหนึ่งห่อหุ้มด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ เมื่อนั้นนางก็จัดแต่งอาภรณ์ให้เรียบร้อย ยกถาดทองคำซึ่งบรรจุมธุปายาสอันโอชะทูนขึ้นไว้บนศีรษะของตนแล้วเดินนำไปสู่ ที่ประทับแห่งพระบรมโพธิสัตว์

ข้าวมธุปายาสในครั้งพุทธกาล เป็นอาหารที่ปรุงให้มีรสหวานนุ่ม มีส่วนผสมของ ข้าวอ่อนที่ยังไม่สุกจัดคั้นออกจากรวงเป็นน้ำ แล้วหุงกับน้ำนมสดเจือด้วยน้ำผึ้งมีความข้นพอที่จะปั้นให้เป็นคำได้

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

นางปุณณทาสี ได้ตื่นแต่เช้า เดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปาจินทิศ(ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกไปเป็นปริมณฑล งามยิ่งนัก นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้ เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม นั่งคอยรับข้าวมธุปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว นางก็ดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไป

นางสุชาดามีความปลาบปลื้มกล่าวว่า ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา 2 ถาด ประสงค์จะใส่ข้าวมธุปายาสจนหมดพอดี มิได้เหลือเศษไว้เลย แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง ห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์ ประดับร่างกายด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงแล้ว ก็ยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูลเหนือเศียรเกล้าของนาง ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาอันมาก ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมี ดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง

ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายใส่ข้าวมธุปายาสไว้ นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายทั้งถาด พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อนฉันสำเร็จฉันใด ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วนางก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น


พระมหาบุรุษ เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถือถาดข้าวมธุปายาส เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับบ่ายพระพักตรสู่บุรพาทิศแล้ว ทรงปั้นข้าวมธุปายาสเป็นปั้นๆ ได้ 49 ปั้น เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงสู่แม่น้ำเนรัญชรา ขณะนั้นอานุภาพพระบารมีของพระองค์ซึ่งทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ได้แสดงให้เห็นอัศจรรย์ ถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำเนรัญชราขึ้นไปประมาณ 1 เส้น แล้วถาดทองนั้นก็จมลงตรงนาคภพพิมานแห่งพญากาฬนาคราช ครั้นพระมหาบุรุษได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญสัมพุทธเจ้า


ในขณะนั้น พญามารพร้อมกองทัพมารได้มาปรากฏตัวขึ้น เพื่อคิดที่จะทำลายพระโพธิสัตว์ เหล่าเทวดาจึงหนีหายไปอยู่ขอบจักรวาล ทำให้พระโพธิสัตว์ต้องอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว แต่พระองค์ก็มิได้ หวั่นไหวต่อกองทัพมารที่มาแต่อย่างใด ก็ยังคงนั่งคู้บังลังก์อยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ นึกถึงบารมีทั้ง 30 ทัศที่ พระองค์ได้สั่งสมมาตลอด 20 อสงไขยกับแสนมหากัปอย่างไม่หวาดกลัวต่อพญามารและกองทัพมาร จนในที่สุดพญามารและกองทัพมารก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรพระองค์ได้ ก็ต้องถอยทัพกลับไปยังที่อยู่ของตน จากนั้นก็ทรงทำความเพียรต่อไปโดยไม่ย่อท้อ


หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วทรงมีพระราชหฤทัยเบิกบานอย่างสูงสุด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึงกับอุทานว่า

“ เราเมื่อแสวงหานายช่างคือตัณหา ผู้กระทำเรือน เมื่อไม่ประสบ ได้ท่องเที่ยวไปยังสงสาร มิใช่น้อย ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนนายช่างผู้กระทำเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนไม่ได้อีก ต่อไป ซี่โครงทั้งปวงของท่าน เราหักแล้ว ยอดเรือนเรากำจัดแล้ว จิตของเราถึงวิสังขารคือนิพพานแล้ว เราได้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว”2) จากนั้นพระองค์ก็ทรงนั่งปฏิบัติธรรมและพิจารณาธรรมตามที่ต่างๆ ดังนี้


สัปดาห์ที่ 1 พระพุทธเจ้าหลังจากประทับนั่งเปล่งพระอุทานแล้ว ก็ทรงดำริว่า

“ เราแล่นไปถึงสี่ อสงไขยกับแสนกัป ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้ เราตัดศีรษะอันประดับแล้วที่ลำคอแล้วให้ทานไปตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้ เราควักนัยน์ตาที่หยอดดีแล้ว และควักเนื้อหัวใจให้ไป ให้บุตร เช่น ชาลีกุมาร ให้ธิดาเช่นกับกัณหาชินากุมารี และให้ภรรยา เช่น พระมัทรีเทวี เพื่อเป็นทาสของคนอื่นๆ เพราะเหตุบัลลังก์นี้ บัลลังก์นี้เป็นบัลลังก์ชัย เป็นบัลลังก์ประเสริฐของเรา ความดำริของเราผู้นั่งบน...


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรก ที่ค้นพบสุดยอดแห่งความรู้ ที่ทำให้สรรพสัตว์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ซึ่งไม่เคยมีศาสดาคนใดค้นพบมาก่อน ในยามต้น ทรงบรรลุ บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติตนเองได้ ในมัชฌิมยาม ทรง บรรลุจุตูปปาตญาณ คือ รู้การเกิดการตายของสัตว์อื่นได้ ในปัญฉิมยาม ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือการทำอาสวกิเลสให้หลุดร่อนออกจากใจ เพราะทรงเห็นแจ้ง อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมไม่มีไครเทียบได้

ครั้นเมื่อผ่านไป 7 วัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจากควงไม้ราชายตนะเข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธนั้นอีก ทรงปริวิตกว่า

“ ธรรมที่พระองค์บรรลุนั้นสุขุมลุ่มลึกเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เพราะเป็นธรรมที่สงบ ประณีต ละเอียด เป็นวิสัยของบัณฑิตเท่านั้นที่จะพึงรู้แจ้ง ก็ถ้าเราจะแสดงธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”

ครั้นเมื่อพระองค์ทรงอธิษฐานจิต เพื่อที่จะแสดงพระธรรมเทศนาเช่นนั้นแล้ว จึงทรงดำริหาผู้ที่สมควรจะได้รับพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระองค์ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร ผู้เป็นบัณฑิตที่จะรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็วพลัน เมื่อตรวจดูอีก ทรงทราบว่าอาฬารดาบสนั้นได้เสียชีวิตได้ 7 วันแล้ว จึงทรงระลึกถึงอุททกดาบสรามบุตร ก็ทรงทราบว่า แม้อุททกดาบสก็ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อพลบค่ำเย็นวานนี้ จึงทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์และได้ตกลงพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภที่จะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ในรุ่งเช้า พระองค์ก็ทรงเสด็จดำเนินไปยังป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่อาศัยอยู่ของพวกปัญจวัคคีย์ โดยในระหว่างทางพระองค์ก็ได้พบอุปกาชีวก ผู้ไม่เชื่อความที่พระองค์ตรัสรู้เอง และหลังจากนั้นพระองค์ก็เดินทางมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์แล้ว ไม่ได้ให้การต้อนรับ เนื่องจากยังผิดหวังกับพระองค์ที่เลิกการทำทุกกรกิริยา แต่ด้วยบุญบารมีที่เคยสร้างด้วยกันมากับพระพุทธเจ้า ประกอบกับบุญที่ตนได้ทำเอาไว้ในกาลก่อน จึงทำให้ปัญจวัคคีย์ทำการดูแลต้อนรับอย่างดี ยอมเชื่อฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกอย่าง

จากนั้นพระองค์จึงได้แสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ มีชื่อว่า “ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”6) ซึ่งตรงกับ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ (เดือนอาสาฬหะ) ซึ่งมีเนื้อความที่แสดงถึงทางสุดโต่ง 2 สายที่บุคคลไม่ควรเสพ แต่ให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ 8 ก็จะเห็นถึงความจริงของชีวิตทั้งหมดที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งนี้ ทำให้โกณฑัญญะพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นโสดาปัตติมรรค เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า “ อญญาสิ วต โภ โกณฺฑญโญ” และประทานการบวช แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ เธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติ พรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ต่อมาปัญจวัคคีย์ 4 คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นกัน จากนั้นทรงแสดง “ อนัตตลักขณสูตร”7) ซึ่งมีเนื้อความที่แสดงถึงว่า ขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น ก็จะทำให้ใจพ้นจากอาสวะได้ ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องนี้ ทำให้ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลานั้นเอง



รั้งนั้น ภิกษุสงฆ์ได้มาประชุมพร้อมกันหมดแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุ สงฆ์ไว้อย่างนี้

1. เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว อย่าพึงมีความคิดว่า ศาสดาไม่มีแล้ว เพราะธรรมและวินัยที่ตถาคตแสดงแล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนพระองค์

2. การร้องเรียกกันด้วยคำว่า “ อาวุโส” ในตอนนี้เป็นการเสมอกันไปทั้งแก่และอ่อน ฉะนั้น ต่อไปนี้ ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า ด้วยชื่อ ด้วยตระกูล หรือด้วยคำว่า “ อาวุโส” ส่วนภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า “ ภันเต” หรือ “ อายัสมา”

3. ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ในเวลาที่ตถาคตปรินิพพานแล้ว ก็อนุญาตให้สงฆ์ถอดถอนได้

4. ให้พระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษุ ด้วยการไม่ให้คณะสงฆ์ว่ากล่าว ตักเตือน สั่งสอน และคบหาสมาคมด้วย

จากนั้น ประทานโอกาสให้ภิกษุสงฆ์ถามความข้องใจสงสัยในพระรัตนตรัย หรือแม้ในข้อปฏิบัติที่ยังสงสัยอยู่ แต่ปรากฏว่าไม่มีภิกษุรูปใดทูลถาม แม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสถามถึง 3 ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เพราะภิกษุที่ประชุมกันอยู่ 500 รูปนี้ อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา มีทางที่จะได้ตรัสรู้ต่อไปในภายภาคหน้า พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไป เป็นครั้งสุดท้ายว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า

” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” พระโอวาทนี้จัดเป็นปัจฉิมโอวาท เป็นโอวาทสุดท้ายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนแก่พุทธบริษัททั้ง


หลังจากนี้พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงสงบนิ่งทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุบุพพวิหารหรือสมาบัติทั้ง 9 โดยอนุโลมและปฏิโลมตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

พระอานนท์ผู้นั่งเฝ้าดูอาการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดเวลา จึงถามถึงการปรินิพพานกับพระอนุรุทธะซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ พระอนุรุทธะผู้มีตาทิพย์มองเห็นการปรินิพพานของพระพุทธองค์ตลอดมา ตอบว่า ยังไม่ได้ปรินิพพาน เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว เข้า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็เสด็จปรินิพพาน

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นหวั่นไหว มหาสมุทรปั่นป่วนหวั่นไหว เกิดคลื่นเคลื่อนไปไม่มีหยุด พายุพัดกรรโชกกระหน่ำเกิดความขนพองสยองเกล้าน่าสะพรึงกลัวยิ่ง ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือขึ้น.....

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบรมครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ทรงสั่งสอนชาวโลกจนกระทั่งวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ นำทางชาวโลกให้ไปสู่สวรรค์และนิพพานเป็นจำนวนมาก ทรงมีพุทธประวัติที่งดงามหมดจด ชัดเจน ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ จนกระทั่งปรินิพาน และทรงเป็นบุคคลอัศจรรย์ ที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน ในวันเดียวกัน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หรือ วันวิสาขบูชา ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวัน “วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ” หรือวันสำคัญสากลของโลก

Cr ; Fb กองการคณะสงฆ์ วัดพระธรรมกาย

ไม่มีความคิดเห็น