ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดําเนินไปถึงที่อยู่ของ “อุรุเวลกัสสปะ” ผู้เป็นพี่ใหญ่ ณ ที่นี้พระพุทธองค์ได้ทรงอาศัยปาฏิหาริย์ ๓ อันประกอบด้วย
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ คือ การแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ การดักทายใจและบอกอุปนิสัยได้เป็นอัศจรรย์
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ การสอนให้รู้เห็นไปตามความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิทธิปาฏิหาริย์ และ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดังมีเนื้อความโดยย่อดังนี้
พระพุทธองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการประทับอยู่ในโรงบูชาไฟ ณ ที่นั้นมีพญานาคผู้มีฤทธิ์มากอาศัยอยู่ เมื่อพญานาคบังหวนควันและพ่นไฟใส่พระพุทธองค์ พระองค์ทรงเข้าเตโชกสิณสยบพญานาคให้ขดลงในบาตร (อิทธิปาฏิหาริย์) หลังจากนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะ ท้าวสหัมบดีพรหมได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาของชฎิลทั้งปวง ต่อมาเมื่อถึงพิธีบูชายัญใหญ่ ชาวอังคะและมคธต่างเตรียมเครื่องสักการะแก่เหล่าชฎิล “อุรุเวลกัสสปะ” ได้เกิดปริวิตก เกรงว่าสักการะทั้งหลายจะเสื่อมไป จึงไม่อยากให้พระพุทธองค์เสด็จมาในวันรุ่งขึ้น ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบถึงความคิดดังกล่าวนั้น จึงมิได้เสด็จไป (อาเทสนาปาฏิหาริย์) และเสด็จไปยังอุตตรกุรุทวีปเพื่อบิณฑบาต (อิทธิปาฏิหาริย์) นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์เสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงบังดาลให้เหล่าชฎิลสามารถผ่าฟืน ก่อกองไฟ และดับกองไฟทั้ง ๕๐๐ ได้อย่างอัศจรรย์ และเหตุการณ์สุดท้ายที่ทําให้ “อุรุเวลกัสสปะ” ยอมลดทิฐิที่มีมาตลอด คือ เหตุการณ์ที่เกิดอุทกภัยใหญ่ เหล่าชฎิลต่างลอยคอ มีเพียงพระพุทธองค์เท่านั้นที่ทรงพ้นจากอุทกภัย และเสด็จจงกรมอยู่ท่ามกลางแม่นํ้าที่แหวกออกเป็นทาง (อิทธิปาฏิหาริย์)
จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ที่ปรากฏอย่างละเอียดในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (วิ.มหา. ๔/๓๗-๕๓/๔๗-๖๓ แปล.มจร) ทําให้เราเห็นว่า ปาฏิหาริย์ ๓ นี้มีส่วนสําคัญอย่างยิ่งต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยพระพุทธองค์ทรงเริ่มต้นที่ อิทธิปาฏิหาริย์ และ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ควบคู่กันไปจนกระทั่งทรงเห็นว่า “อุรุเวลกัสสปะ” คลายทิฐิลงได้ มีจิตนุ่มนวลควรแก่การฟังธรรม
เมื่อนั้นพระพุทธองค์จึงทรงอาศัย อนุสาสนีปาฏิหาริย์ แสดงธรรมแก่ชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง รวมถึงบริวารอีก ๑,๐๐๐ จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด จริงอยู่แม้ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ จะมีความสําคัญที่สุดและเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธความสําคัญในระดับที่รองลงมาของ อิทธิปาฏิหาริย์ และ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ได้โดยประการทั้งปวง
เรื่อง พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร
ภาพ พระณัฏฐ์วัฒน์ ณฏฺฐิโต
ไม่มีความคิดเห็น