สิบกว่าปีมานี้ ประเทศไทยเราเคยทำบุญ ถวายมหาสังฆทานครั้งยิ่งใหญ่หลายครั้ง นั่นคือการตักบาตรพระสงฆ์ 2 ล้านรูป 77 จังหวัดทั่วไทย เมื่อถึงครา...
สิบกว่าปีมานี้ ประเทศไทยเราเคยทำบุญ
ถวายมหาสังฆทานครั้งยิ่งใหญ่หลายครั้ง
นั่นคือการตักบาตรพระสงฆ์ 2 ล้านรูป 77 จังหวัดทั่วไทย
เมื่อถึงคราวคับขัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้นึกถึงบุญ
บุญเกิดขึ้น 3 วาระ คือ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ
ก่อนทำ บุญเกิดขึ้นด้วยความดีใจ
ขณะทำ บุญเกิดขึ้นด้วยความเลื่อมใส
หลังทำ บุญเกิดขึ้นด้วยการตามระลึกถึงบ่อยๆ ให้ปลื้มใจ
วิกฤตรอบนี้ กระจายทุกหย่อมหญ้า
ก็ต้องนึกถึงบุญใหญ่ที่สร้างไว้กระจายทุกหย่อมหญ้ามาใช้ให้เต็มกำลัง
ใครที่กำลังทุกข์ใจเพราะเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ตอนนี้ อย่าลืมนึกถึงบุญนี้
เพราะบุญตักบาตรพระสงฆ์ 2 ล้านรูป เป็นบุญที่เราร่วมกับชาวพุทธทั่วประเทศ
สร้างมหาสังฆทานไว้ทั่วทุก 77 จังหวัด
เราเคยลงพื้นที่ชักชวนผู้คนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า กระจายกำลังกันไปนิมนต์พระสงฆ์หลายหมื่นวัด ให้มาประชุมพร้อมเพรียงกันเพื่อสร้างมหาสังฆทานครั้งยิ่งใหญ่
บุญนี้มีอานิสงส์มาก ทั้งเป็นมหาสังฆทานที่เกิดขึ้นได้ยาก
ทั้งเป็นการต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาในแดนอันตราย
ทั้งเป็นการยกย่องสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัยอันไม่มีประมาณ
ทั้งสร้างความมั่นคงให้แก่ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาวพุทธทั่วโลก
ในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้น
เมื่อเราได้เคยสร้างมหาสังฆทานอันยิ่งใหญ่ไว้ขนาดนี้
ก็ต้องหมั่นนึกให้ปลื้มใจให้มากที่สุด
บุญจะได้เกื้อหนุนให้ตัวเราและผู้คนที่เคยสร้างบุญนี้ไว้
ในทุกหย่อมหญ้าผ่านพ้นวิกฤตไปได้เร็ววัน
เมื่อใจอยู่ในบุญแล้ว ความวิตกกังวลย่อมหายไป
กำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปก็บังเกิดขึ้นตามมา
สติก็จะไม่แตก ปัญญาก็จะไม่พัง จิตใจก็จะแกร่งแกล้า
ความมั่นใจก็จะกลับมา
แล้วก็จะเริ่มนึกขึ้นได้ว่า
ก่อนหน้านั้น วิกฤตที่เคยหนักกว่านี้ยังผ่านมาได้
เพราะเราอดทน ใช้ปัญญา ไม่เพิ่มปัญหา
หมั่นทำภาวนา เพื่อรักษาใจอยู่ในบุญ
แม้วิกฤตครั้งนี้จะต่างออกไป แต่เราก็เชื่อมั่นว่า ครั้งนี้ก็ต้องผ่านไปได้เช่นกัน
โดยใช้หลักวิชาเดิม คือ "อยู่ในบุญ"
เพราะเรามีบุญพิเศษประเภทสร้างมหาสังฆทานค้ำจุนพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว เราก็ต้องนึกถึงบุญตักบาตรพระสงฆ์ 2 ล้านรูปครั้งนั้น
มาเป็นกำลังหนุนให้ตัวเราและทุกคนในโลกนี้ ผ่านวิกฤตไปได้ด้วยกัน
การตามระลึกนึกถึงบุญนั้น
อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
มิเช่นนั้น พระพุทธองค์ก็คงไม่ตรัสว่าบุญเกิดขึ้นได้ทั้งสามวาระ ไม่ใช่ทำจบแล้วจบเลย แต่ยังตามระลึกนึกถึงให้เกิดขึ้นได้อีกเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น
เพราะการตามระลึกนึกถึงบุญนั้น คือการเชื่อมใจกับท่อธารบุญที่ไหลหลั่งจากพระนิพพาน
ทำให้บุคคลนั้นยังคงรักษาศรัทธาต่อการสร้างความดีไว้ได้อย่างน้อย 4 ประการ นั่นคือ
1. ศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย
2. ศรัทธาที่มีต่อการฟังธรรม
3. ศรัทธาที่มีต่อการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
4. ศรัทธาที่มีต่อการทนุบำรุง-ค้ำจุน -ปกป้อง-คุ้มครองพระพุทธศาสนา
ทำให้บุคคลนั้นมีศรัทธาไม่หวั่นไหวกับการสร้างความดี มีกำลังใจสร้างบุญอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพื่อยกตนและมหาชนให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารในอนาคต
ส่งผลให้ไม่ว่าชีวิตของบุคคลนั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด ย่อมไม่เป็น "ผู้ขัดสน"
นั่นคือ
1. ไม่ขัดสนทั้งกำลังปัญญา
2. ไม่ขัดสนทั้งกำลังทรัพย์
3. ไม่ขัดสนทั้งกำลังบุญ
4. ไม่ขัดสนทั้งกำลังใจ
5. ไม่ขัดสนทั้งกำลังพวกพ้อง
6. ไม่ขัดสนในการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ย่อมสามารถหลุดพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปได้ในที่สุด
สมดังพุทธภาษิตที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า
"ผู้ใด
(1) มีศรัทธาในตถาคตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
(2) มีศีลงาม เป็นศีลที่พระอริยะชอบใจ(และ)สรรเสริญ
(3) มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และ
(4) มีความเห็นตรง
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาเมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม"
Cr : Ptreetep Chinungkuro
ไม่มีความคิดเห็น