ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

พระเมรุมาศ บูรพกษัตริยาธิราชจักรีวงศ์

พระเมรุมาศ บูรพกษัตริยาธิราชจักรีวงศ์


พระเมรุมาศ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ (คำว่าพระเมรุมาศ ใช้สำหรับกษัตริย์ พระราชินี พระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสุง-พระเมรุ ใช้สำหรับเจ้านาย) ถือเป็นสิ่งแสดงพระเกียรติยศในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพสร้าง ณ ท้องสนามหลวง เพื่ออัญเชิญพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวัง ด้วยกระบวนพระราชอิสริยยศออกไปประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงบนอาคารพระเมรุมาศ

ความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่งผลถึงการเรียกที่ตั้งพระบรมศพหรือพระศพเพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงว่า เมรุ พระเมรุ พระเมรุมาศ เพื่อเป็นการส่งพระศพและดวงพระวิญญาณเสด็จกลับยังเขาพระสุเมรุ ที่สถิตของเหล่าเทพตามคติทางศาสนาพราหมณ์


การพระบรมศพที่เป็นแบบฉบับต่อการจัดพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์คือ การพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเมรุมาศตามโบราณราชประเพณีกรุงศรีอยุธยานั้นมีความยิ่งใหญ่โอฬารมาก สอดคล้องกับหลักที่ว่า การสร้างพระเมรุมาศถือเป็นความมั่นคงของประเทศ พระเมรุมาศของรัชกาลใดยิ่งใหญ่ กิตติศัพท์จะขจรเลื่องลือ ประกาศให้รับรู้ว่าบ้านเมืองรัชกาลนั้นเข้มแข็ง ให้เป็นที่เกรงขามแก่หมู่ปัจจามิตร 

การสร้างพระเมรุมาศตามราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา ยึดรูปแบบพระเมรุมาศทรงปราสาท และสร้างเรือนบุษบกบัลลังก์ หรือเมรุทองซ้อนอยู่ภายใน เป็นรูปแบบการสร้างพระเมรุมาศตามคติการสร้างปราสาทบนเขาพระสุเมรุ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์


พระเมรุมาศตามราชประเพณีกรุงศรีอยุธยามีส่วนประกอบคือ มีประตูทั้ง 4 ทิศ แต่ละประตูตั้งรูปกินนรและอสูร ทั้ง 4 ทิศ ประตูพระเมรุใหญ่ปิดทองทึบจนถึงเชิงเสา กลางพระเมรุเป็นแท่นรับเชิงตะกอนที่ตั้งพระบรมโกศ เสาเชิงตะกอนปิดทองประดับกระจก รอบ ๆ มีเมรุทิศ 4 เมรุ และเมรุแทรก 4 เมรุ รวมเป็น 8 ทิศ ล้วนปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายต่าง ๆ รอบ ๆ เมรุตั้งรูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์ อาทิ รูปเทวดา รูปวิทยาธร รูปคนธรรพ์ ครุฑ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ เหมหงส์ นรสิงห์ สิงโต มังกร เหรา นาคา ทักกะทอ ช้าง ม้า และเลียงผา แล้วกั้นราชวัติ 3 ชั้น ซึ่งปิดทอง นาก และเงิน รวมทั้งตีเรือกเป็นทางเดินสำหรับเชิญพระบรมศพ ตามริมทางตั้งต้นไม้กระถางที่มีดอกต่าง ๆ รวมทั้งประดับประดาฉัตรและธง 

ภายในปริมณฑลพระราชพิธีประกอบด้วยอาคารหลายหลัง มีชื่อเรียกและประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกัน ในอดีตนอกจากพระเมรุมาศแล้วยังมีอาคารหลักที่สำคัญคือ พลับพลา ที่ประทับสำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์บำเพ็ญกุศล และอีกหนึ่งอาคารสำคัญเรียกว่า สำซ่าง คือที่สำหรับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม นอกจากนั้นยังมีอาคารทับเกษตร โรงมหรสพ โรงครัว ห้องน้ำ และอื่น ๆ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมก่อสร้าง ได้ลดและตัดทอนบางส่วนและคลี่คลายรูปแบบไป

ความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศตามแบบแผนกรุงเก่าได้เปลี่ยนไปในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เนื่องจากเป็นยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทรงปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในเวลานั้น รวมถึงแนวคิดต่อการแสดงออกทางพระราชอำนาจผ่านทางพระราชพิธีพระบรมศพ ทรงมีพระราชดำริที่จะไม่ก่อสร้างพระเมรุมาศยิ่งใหญ่เช่นแต่ก่อน ต่อมาเมื่อถึงครางานพระบรมศพของพระองค์เอง แนวพระราชดำรินั้นจึงได้รับการสนองตอบจากองค์รัชทายาทคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ทรงปรับปรุงรูปแบบการสร้างพระเมรุมาศทั้งรูปทรงและวัสดุก่อสร้าง 


ดังจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของพระเมรุมาศในยุคก่อนและหลังรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตัวอย่างเช่น พระเมรุมาศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ตามแบบโบราณราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระเมรุมาศองค์สุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท

อีกหนึ่งตัวอย่างงานพระศพที่มีการสร้างพระเมรุยิ่งใหญ่อลังการอย่างมาก คือพระเมรุรูปแบบปราสาทห้ายอด ยอดมณฑป และมีอาคารแวดล้อมใหญ่โต อาณาบริเวณกว้างขวางมาก ในงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงก่อนที่พระองค์จะทรงมีพระราชดำริเรื่องการปรับรูปแบบพระเมรุมาศและพระเมรุ

สำหรับงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) นั้นไม่ได้สร้างเขาพระสุเมรุตามแบบเดิม แต่เปลี่ยนมาก่อสร้างพระเมรุมาศบนพื้นราบ เป็นทรงบุษบกแวดล้อมด้วยเมรุราย 4 ทิศ ค่อย ๆ ลดรูปเป็นคดซ่าง ระเบียง ทับเกษตร อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะตัดทอนลดรูป แต่การก่อสร้างก็ยังยึดถือเป็นแบบแผนเก่าอย่างเคร่งครัด 

พระเมรุมาศทรงบุษบกในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นแบบพระเมรุมาศแบบใหม่ครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าเป็นพระเมรุมาศที่ลดขนาดลงจากพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเห็นได้ชัด หลังจากนั้นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินจึงยึดรูปแบบนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน และพระเมรุมาศทรงบุษบกนี้ถือเป็นแบบพระเมรุมาศสำหรับกษัตริย์เท่านั้น 

ตัวอย่าง พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


หอเปลื้อง เป็นสถานที่สำหรับเก็บพระโกศหลังจากได้เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว และใช้เป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆในพระราชพิธี เช่น ฟืน ดอกไม้จันทร์ ขันน้ำ ซึ่งจะต้องตั้งน้ำสำหรับเลี้ยงเวลาเมื่อพระราชทานเพลิง
พระที่นั่งทรงธรรม ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ รวมทั้งมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะฑูตานุทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ภายในพระที่นั่งทรงธรรม เป็นที่ตั้งอาสนะพระสงฆ์ และธรรมมาสน์ เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพักพระอิริยาบถ  

ศาลาลูกขุน  ใช้เป็นสถานที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการและข้าในพระองค์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ซ่างหรือสำสร้าง  เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์สวดอภิธรรมในงานถวายพระเพลิงพระศพมีจำนวน ๔ หลัง เป็นการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ติดกับแนวรั้วราชวัติ สร้างขึ้นที่มุมทั้งสี่ ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ตลอดงานพระเมรุ ตั้งแต่พระโกศพระศพประดิษฐานบนพระจิตกาธาน จนกว่าจะพระราชทานเพลิงเสร็จ คือจะมีพระพิธีธรรม ๔ สำรับ นั่งอยู่ประจำซ่างโดยจะผลัดกันสวดทีละซ่างเวียนกันไป
ทับเกษตร  เป็นอาคารขนาบสองข้างของซ่างตามแนวรั้วราชวัติ เป็นการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยมีลักษณะเป็นระเบียงโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจั่ว เป็นสถานที่สำหรับข้าราชการที่มาฟังสวดพระอภิธรรมในงานถวายพระเพลิงพระศพ และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมพระศพด้วย

ส่วนพระเมรุมาศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบและเตรียมก่อสร้างต่อไป โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้รับหน้าที่ และมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์วินิจฉัย

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะเป็นพระเมรุมาศรูปทรงใด แต่สิ่งที่จะได้เห็นแน่นอนคือความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติและพระราชอิสริยยศของกษัตริย์ผู้เป็นประมุขแผ่นดิน และเป็นที่รักเทิดทูนของพสกนิกรทั่วทุกแหล่งหล้า 

ไม่มีความคิดเห็น