พระมหากษัตริย์ผู้ทรงยึดมั่น ในคำสอนพระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งหลายอันทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในที่ทุกสถานทั่ว พระราชอาณาจักร นับแต่วันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนทุกถ้วนหน้า พร้อมทั้งประเทศชาติและศาสนาทั้งหลายได้มีความสวัสดี มีความสุข ความเจริญสืบมาเป็นลำดับ โดยอาศัย พระบารมีธรรมซึ่งเป็นส่วนทั้งที่เป็นบุพเพกตปุญญตา ทั้งที่เป็นปัจจุบันกตปุญญตา อันได้ทรงปฏิบัติสม่ำเสมอ มาไม่มีหยุดยั้ง และยิ่งจะทวีพระราชวิริยะ อุตสาหะ ในอันที่จะทรงปฏิบัติให้บังเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งหลายยิ่งๆ ขึ้นไปอีก…
ทุกคนผู้มีอายุผ่านมาในระยะกาลเวลาเหล่านี้ ย่อมจะได้มองเห็นตระหนักดีว่า ประเทศชาติ ประชาชนได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาเป็นอันมาก ทั้งในด้านที่น่ายินดี ทั้งในด้านที่น่าวิตกหวั่นเกรง แต่ก็อาศัย พระบารมีจึงได้ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาด้วยดี และแม้จะผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาด้วยดี และแม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างที่น่าหวาดกลัว แต่ก็ได้ผ่านพ้นมาได้ ฉะนั้นทุกๆ คนจึงพากันได้เห็นได้ทราบเป็นอย่างดีว่าพระองค์ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ที่ได้ทรงมีพระบารมีซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาอย่างเต็มเปี่ยม คือความดีต่างๆ ในประชาชนและประเทศชาติมาเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็คือ ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ธรรมสำหรับพระราชาผู้ปกครอง 10 ประการ จักรวรรดิวัตร 12 และราชสังคหวัตถุ 8 ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในธรรมเหล่านี้ คือ
ทศพิธราชธรรม 10 ประการ คือ 1.ทาน 2.ศีล 3.บริจาค 4.อาชชวะ 5.มัททวะ 6.ตบะ 7.อักโกธะ 8.อวิหิงสา 9.ขันติ 10.อวิโรธนะ
จักรวรรดิวัตร 12
จักรวรรดิวัตร 12 คือ พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ ตามบาลีมีหัวข้อใหญ่ 4 ข้อ ประกอบด้วย ธรรมาธิปไตย (เคารพนับถือยำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย) มา อธรรมการ (จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการ กระทำความผิดความชั่วร้าย เดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง) ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชน ผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น) สมณพราหมปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมาอยู่เสมอตามกาลอันควร) โดยแต่ละข้อจะมีหัวข้อย่อย มีรายละเอียด วิธีปฏิบัติจำเพาะ แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีหัวข้อย่อยได้ 12 ข้อ
ดังพระราชกรณียกิจที่พระจักรพรรดิทรงปฏิบัติปรากฏ 12 ประการ คือ
ดังพระราชกรณียกิจที่พระจักรพรรดิทรงปฏิบัติปรากฏ 12 ประการ คือ
1.อนุเคราะห์คนในราชสำนัก และคนภายนอก ให้มีความสุขไม่ปล่อยปละละเลย
2.ผูกพันไมตรีกับประเทศอื่น
3.อนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์
4.เกื้อกูลพราหมณ์ คหบดี และคฤหบดีชน คือเกื้อกูลพราหมณ์และผู้ที่อยู่ในเมือง
5.อนุเคราะห์ประชาชนในชนบท
6.อนุเคราะห์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล
7.จักรักษาฝูงเนื้อ นก และสัตว์ทั้งหลายมิให้ สูญพันธุ์
8.ห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม และชักนำด้วยตัวอย่างให้อยู่ในกุศลสุจริต
9.เลี้ยงดูคนจน เพื่อมิให้ประกอบทุจริต กุศลและอกุศลต่อสังคม
10.เข้าใกล้สมณพราหมณ์ เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศลและอกุศลให้แจ้งชัด
11.ห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่พระมหากษัตริย์ ไม่ควรเสด็จ
12.ระงับความโลภมิให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้
ราชสังคหวัตถุ 8
ราชสังคหวัตถุ 4 คือ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง พระราชจริยวัตร อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจประชาชนสำหรับเป็นแนวทางในการวางนโยบายปกครองบ้านเมือง ประกอบด้วย
1.สัสสะเมธะ : ความที่ทรงพระปรีชาสามารถในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหารให้บริบูรณ์ ส่งเสริมการเกษตร
2.ปุริสเมธะ : ความที่ทรงพระปรีชาสามารถในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ
3.สัมมาปาสะ : ความที่ทรงพระปรีชาสามารถรู้จัก ผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ
4.วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ : ความที่ทรงมีวาจาปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใน อันดี และความนิยมเชื่อถือ
(ถอดความบางตอนจาก ธรรมกถาในพิธีบำเพ็ญจิตตภาวนาพุทโธ ของสมเด็จพระญาณสังวร เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบหนึ่งหมื่นวัน วันอังคารที่ 20 กันยายน 2520 ณ ส.ว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร)
ไม่มีความคิดเห็น