พระนางเจ้าสว่างวัฒนา ราชวงศ์ 6 แผ่นดิน (มเหสีที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์)
รัชกาลที่ 8 (ซ้าย) สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี (กลาง) รัชกาลที่ 9 (ขวา)
"สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า"
พระนางเจ้าสว่างวัฒนา หรือพระนามเต็มว่า "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" พระองค์ประสูติ (เกิด) ในสมัยรัชกาลที่ 4 และสวรรคตในสมัยรัชกาลที่ 9 รวมพระชนมายุยาวนานมากถึง 6 แผ่นดิน
ทรงเป็นราชวงศ์ที่มีพระชนมายุยาวนาน 6 แผ่นดิน
- พระองค์ทรงเป็นพระธิดา (ลูกสาว) ในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
- เป็นพระบรมราชเทวี (ภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน) ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
- เป็นพระมาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
- เป็นพระอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)
มเหสีที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์
"พระนางเจ้าสว่างวัฒนา" พระองค์ทรงมีพระราชโอรส-ธิดารวม 10 พระองค์ แบ่งเป็นพระราชโอรส 4 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 4 พระองค์ และทรงตก (แท้ง) อีก 2 พระองค์
แม้สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงพระอิศริยยศสูงส่ง แต่ก็ทรงประสบกับความทุกข์ด้วยพระราชโอรสธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้แก่
เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (ลูกคนที่ 2) สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาเพียง 21 วัน
เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา (ลูกคนที่ 3) สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาเพียง 4 เดือน
เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม) สิ้นพระชนม์หลังประสูติได้เพียง 3 วัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ลูกคนที่ 1) ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ลำดับต่อไป) เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันด้วยโรคไข้รากสาดน้อย จากเหตุการณ์นี้เล่ากันว่าสมเด็จพระพันวัสสาทรงล้มทั้งยืนในทันที พระองค์ทรงพระกันแสงอย่างรุนแรง ไม่ทรงฟังคำปลอบประโลมใดๆ ทรงโศกเศร้าจนไม่เสด็จกลับตำหนัก กั้นพระฉากบรรทมในที่ประดิษฐานพระบรมศพพระราชโอรส ไม่เสวยพระกระยาหาร จนทรงพระประชวรในที่สุด
เวลาผ่านไป พระสุขภาพเริ่มดีขึ้น ก็ต้องพบกับเหตุการณ์เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ (ลูกคนที่ 6) ก็สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาเพียง 10 ปี พระพันวัสสาทรงเสียพระทัยถึงกับประชวรอีกครั้ง ทางแพทย์ต้องกราบบังคมทูลขอให้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่ชายทะเล แต่ยังไม่ทันได้เสด็จไป เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ (ลูกคนที่ 4) ก็สิ้นพระชนม์ตามไปอีก
ซึ่งการสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างต่อเนื่องทำให้พระองค์ทรงพระประชวรถึงกับทรงพระดำเนินไม่ได้ จนไม่อาจเสด็จฯ ไปในพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณโสภณ พิมลรัตนวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศวโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นพระราชพิธีเดียวกันได้
ความสูญเสียในชีวิตของประองค์ท่านเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จสู่สวรรคาลัย สมเด็จพระพันวัสสาทรงพระประชวรสลบไปทันที เล่ากันมาว่าทรงอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปว่า "ขอให้ลืม ลืมให้หมด อย่าให้มีความจำอะไรเลย"
ภายหลังสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ลูกคนที่ 7 และเป็นพ่อของในหลวงรัชกาลที่ 8 และ 9) ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) และพระธิดาพระโอรสทั้ง 3 (พระพี่นางฯ รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9)
แต่ความสุขในวังสระปทุมได้หมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ (ลูกคนที่ 7) ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตในทันที เล่ากันว่าขณะนั้น พระพันวัสสาทรงคุกพระชนฆ์ (แข้ง) ลง แล้วยื่นพระหัตถ์ไปทรงปิดพระเนตร (ตา) สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ แล้วซบพระพักตร์ลง
สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ซ้าย) สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี (กลาง) สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร (ขวา)
ความทุกข์เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ลูกคนที่ 5) เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีที่ยังทรงพระชนม์ขณะนั้น ซึ่งพระองค์มีพระโรคประจำพระองค์คือพระวักกะพิการเรื้อรัง (ไตพิการเรื้อรัง) เคยเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง และมีพระดำริจะเสด็จไปสิ้นพระชนม์ที่ต่างประเทศเสีย เพื่อไม่ให้พระชนนีต้องวิตกกังวล แต่พระองค์ได้เสด็จกลับประเทศไทย เพราะทรงทราบข่าวการประชวรของพระชนนี และพระอาการของพระองค์กลับกำเริบขึ้น จนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ที่วังคันธวาส นับเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้ายของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีที่สิ้นพระชนม์
ในการนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพด้วยพระองค์เอง ซึ่งก่อนหน้านี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ไม่เคยเสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพพระราชโอรสธิดาพระองค์ใด เนื่องจากคติโบราณที่ห้ามบิดามารดาเผาศพบุตร มิฉะนั้นต้องเผาอีก แต่ครั้งนี้เป็นพระราชธิดาองค์ท้ายสุด พระองค์จึงได้เสด็จมา และมีพระดำรัสที่มีนัยยะความชอกช้ำพระทัย และประชดประชันในพระชะตาชีวิตว่า "...อ๋อ ไปส่งให้หมด พอกันที ไม่เคยไปเลยจนคนเดียว คนนี้ต้องไป หมดกันที"
จากเหตุการณ์ในวันนั้น ความทุกข์โศกแสนสาหัสที่เกิดขึ้นน่าจะจบลง เพราะพระพันวัสสาทรงปีติปลาบปลื้มกับพระนัดดาทั้งสาม (พระพี่นางฯ รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9) พระสุขภาพที่ทรุดโทรมก่อนหน้านี้ค่อยดีขึ้น ด้วยพระราชหฤทัยที่ชื่นบาน แต่......
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลฯ (รัชกาลที่ 8) เสด็จสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูล จนกระทั่งวาระสุดท้ายของพระองค์ท่าน
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคต ณ วังสระปทุม ด้วยอาการพระทัยวาย รวมพระชนมายุ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน จากรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 9 รวม 6 แผ่นดิน ทรงผ่านทั้งความสุข ความทุกข์โศกใหญ่หลวง จนได้รับการเล่าขานว่า "เป็นมเหสีที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย"
ชีวิตบั้นปลายของพระองค์ท่าน ที่วังสระปทุม ปัจจุบันคือวังแห่งนี้ คือที่ประทับสมเด็จพระเทพฯ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบทั้งหมดจาก
ไม่มีความคิดเห็น