ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

ขมวดเงื่อนปมซับซ้อน! การขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.ชดใช้หนี้คดีคลองจั่น DSI ต้องมีคำตอบให้ชัดเจนกับสาธารณชน เพราะหากปล่อยไว้นานเช่นนี้ จะนำเงินดังกล่าวคืนมาได้อย่างไร !

ขมวดเงื่อนปมซับซ้อน! การขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.ชดใช้หนี้คดีคลองจั่น

ขมวดไทม์ไลน์ปมขายที่ดิน ‘ศุภชัย’ 477 ล้าน พบกระบวนการซับซ้อน-ขัดแย้งในตัวเอง ‘ธาริต’ เซ็นรับรองสหกรณ์คลองจั่นโปร่งใส ไฉนถึงมีการอายัดที่ดินต่อ ก่อนปล่อยล่วงมาหลายเดือนมีการขายที่ดินไปแล้ว จึงเพิกถอนอายัด พบเพิกถอนอายัดที่ดิน จ.โคราช ในวันทำสัญญาขายที่ดิน ทำสัญญานายหน้าหลังขายที่ดินไปแล้ว
นอกเหนือจากที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เซ็นหนังสือรองรับความโปร่งใสในการบริหารงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ตามที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯ ทำหนังสือถามมา โดยใช้เวลาแค่ 7 วันในการตัดสินใจ (หนังสือสหกรณ์ฯ ลงวันที่ 12 เม.ย. 2556 นายธาริตเซ็นรับรอง 19 เม.ย. 2556) นั้น 
อย่างไรก็ดีแม้จะมีการเซ็นรับรองดังกล่าวออกไป แต่ทางดีเอสไอร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยังคงดำเนินการสอบสวนในคดียักยอกทรัพย์สิน และคดีฟอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเช่นเดิม
โดยเฉพาะในคดีการยักยอกทรัพย์สินนั้น ในช่วงเดือน ต.ค. 2556 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีมติให้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีดังกล่าว โดยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอดำเนินการ โดยการขายที่ดินจำนวน 1,838 ไร่ วงเงินกว่า 477 ล้านบาท ที่ถูกดีเอสไออายัดไว้ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. 2556 ให้กับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด 
สำหรับกรณีดังกล่าวมีข้อขัดแย้งกันเอง และมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวตามเอกสารเท่าที่ตรวจสอบพบ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2556 นายศุภชัย ทำหนังสือในนามประธานสหกรณ์ฯ (ขณะนั้น) ถามดีเอสไอให้รับรองความโปร่งใสในการบริหารงานของสหกรณ์ฯ เนื่องจากมีผู้ไปร้องเรียนต่อดีเอสไอว่า เกิดปัญหาในการบริหารขึ้น (ดูเอกสารประกอบ)
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2556 นายธาริต ลงนามในหนังสือรับรองความโปร่งใสในการบริหาร และไม่พบการกระทำความผิดจากการร้องเรียนดังกล่าว (ดูเอกสารประกอบ)


เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556 นายกิตติก้อง คณาจันทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ปราบปรามการฟอกเงินความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ทำหนังสือถึงนายธาริต ขอให้อายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย เป็นที่ดินใน จ.นครราชสีมา และ จ.ปทุมธานี ในคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์ฯ (ดูเอกสารประกอบ)


เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2556 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีมติให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดียักยอกทรัพย์สินของนายศุภชัย โดยให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ดำเนินการขายที่ดิน 1,838 ไร่ วงเงินกว่า 477 ล้านบาท 
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2556 นายศุภชัยชี้แจงในที่ประชุมดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ระบุทำนองว่า สามารถหาบุคคลเพื่อเข้ามาซื้อที่ดินดังกล่าวได้แล้ว โดยนายศุภชัยได้นำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จ.นครราชสีมา มาโชว์ในที่ประชุมด้วย
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายศุภชัย กับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด โดยพบว่า มีการโอนแคชเชียร์เช็คให้กับสหกรณ์ฯแค่ 100 ล้านบาท แต่มีการคืนเงินให้นายศุภชัยกว่า 249 ล้านบาท 
จากการตรวจสอบพบว่า มีการโอนแคชเชียร์เช็คให้กับนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายศรีราชา วงศารยางกูร) 60 ล้านบาท รวมถึงนิติบุคคลต่าง ๆ ในเครือข่ายนายศุภชัยอีกจำนวนหลายสิบล้านบาท ทั้งที่ไม่ปรากฏชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 มีการทำสัญญานายหน้าค้าที่ดินระหว่างบริษัท อินเตอร์อลายแอนซ์กฎหมายธุรกิจ จำกัด (ของนายณฐพร โตประยูร) กับนายศุภชัย ที่ประสงค์จะขายที่ดินดังกล่าว โดยระบุใจความสำคัญคือ หากนายหน้า (บริษัท อินเตอร์อลายฯ) สามารถชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ให้สัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ซื้อในราคาที่สูงกว่ากำหนดไว้ (300 ล้านบาท) จะต้องมีการจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายหน้าเป็นเงิน 60 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2557 เป็นวันที่ปรากฏบนแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงินค่าขายที่ดินของนายศุภชัย กับบริษัท พิษณุโลกฯ ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 100 ล้านบาท และบุคคลต่าง ๆ ตามสัญญา 
ทั้งนี้ในวันเดียวกัน (8 ม.ค. 2557) นายธาริต ได้ตอบหนังสือของนายกิตติก้อง (เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556) ที่ให้อายัดทรัพย์สินเป็นที่ดินของนายศุภชัยใน จ.นครราชสีมา โดยระบุว่า บัดนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า เห็นควรให้เพิกถอนการอายัดที่ดินดังกล่าวทั้งหมด (ดูเอกสารประกอบ)

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2557 เป็นวันที่ปรากฏบนแคชเชียร์เช็ค และใบเสร็จการโอนเงินผ่านระบบบาทเนต (BATHNET) ที่สั่งจ่ายเงินค่าขายที่ดินให้กับนายณฐพร 60 ล้านบาท และนิติบุคคล, สหกรณ์ต่าง ๆ ในเครือข่ายนายศุภชัย รวมวงเงินหลายสิบล้านบาท
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2557 นายธาริต ได้ตอบหนังสือของนายกิตติก้อง (เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556) ที่ให้อายัดทรัพย์สินเป็นที่ดินของนายศุภชัยใน จ.ปทุมธานี โดยระบุว่า บัดนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า เห็นควรให้เพิกถอนการอายัดที่ดินดังกล่าว จึงขอแจ้งให้เพิกถอนการอายัดที่ดินจำนวน 2 แปลง คือโฉนดเลขที่ 2080 ต.คลองสี่ (คลองสี่ตก) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และโฉนดเลขที่ 2646 ต.คลองสาม (คลองสามออก) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จากทั้งหมด 26 แปลง (ดูเอกสารประกอบ)
หากพิจารณาจาก ‘ไทม์ไลน์’ ในเอกสารดังกล่าว จะพบข้อขัดแย้งและความซับซ้อน ดังนี้
1 นายธาริต เซ็นรับรองความโปร่งใสในการบริหารงานของสหกรณ์ฯตามที่นายศุภชัยถามมาภายในเดือน เม.ย. 2556 ไฉนเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556 ดีเอสไอจึงดำเนินการอายัดที่ดินของนายศุภชัย ในคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์ฯ 
ในการขายที่ดินที่ถูกอายัดไว้ของนายศุภชัย ทำไมนายศุภชัยจึงติดต่อไปยังบุคคลที่อ้างว่าจะเข้ามาซื้อที่ดินเองได้ ทั้งที่ต้องดำเนินการตามระเบียบ ปปง. ว่าด้วยการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด พ.ศ.2544 ซึ่ง ปปง. ต้องตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาดขึ้นมา ไม่ใช่ให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอไปดำเนินการเอง
3 การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของนายศุภชัย กับบริษัท พิษณุโลกฯ ทำเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 แต่อยู่ ๆ มีการทำสัญญานายหน้าที่ดิน เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 หรือภายหลังการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปแล้วกว่า 1 เดือน พร้อมกับมีการระบุว่า หากชี้ช่องขายที่ดินได้มากกว่า 300 ล้านบาท จะต้องมีการจ่ายค่านายหน้าให้กับบริษัทของเครือนายณฐพร 60 ล้านบาท 
ซึ่งตรงนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจะมีการเขียนสัญญานายหน้าค้าที่ดินขึ้นใหม่ ภายหลังสำนักข่าวอิศราเผยแพร่เอกสารที่นายณฐพร ได้รับแคชเชียร์เช็ค 60 ล้านบาทจากการขายที่ดินดังกล่าวไปแล้ว ?
4 ในการขายที่ดินดังกล่าว ปรากฏเอกชน/นิติบุคคล ที่เป็นเครือข่ายของนายศุภชัย ได้รับเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท ซึ่งไม่ปรากฏในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน รวมถึงตัวนายศุภชัยได้รับเงินคืนกว่า 249 ล้านบาทด้วย ทำไมถึงไม่คืนเงินให้กับสหกรณ์ฯไปบริหารจัดการจ่ายให้กับผู้เดือนร้อนดังกล่าวเอง
5 นายกิตติก้อง ทำหนังสือขอให้อายัดที่ดิน จ.นครราชสีมา และ จ.ปทุมธานี ของนายศุภชัยเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556 ทำไมนายธาริต ถึงปล่อยให้เกิดกระบวนการขายที่ดินดังกล่าวไปก่อน จนล่วงเลยมาหลายเดือน จึงตอบนายกิตติก้องว่า ที่ดินดังกล่าว (ของ จ.นครราชสีมา ทุกแปลง ของ จ.ปทุมธานี 2 แปลง) ให้เพิกถอนการอายัดที่ดินดังกล่าว
6 ในการขายที่ดินดังกล่าว ปรากฏแค่ที่ดินใน จ.นครราชสีมา ส่วนที่ดิน 2 แปลง ใน จ.ปทุมธานี ที่ถูกเพิกถอนอายัดไม่ปรากฏว่าปัจจุบันไปอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ครอบครอง รวมถึงที่ดิน จ.ปทุมธานี ที่เหลือที่ถูกอายัดอยู่ ก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ปัจจุบันยังอยู่ดีหรือไม่ ?
ทั้งหมดคือความซับซ้อนในคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในส่วนของการขายที่ดินนายศุภชัย เพื่อชดใช้ค่าเสียหาย ท่ามกลางการสอบสวนของดีเอสไอในอีกหลายสำนวน ซึ่งปัจจุบันไม่รู้ว่ามีกี่สำนวนกันแน่
ขณะเดียวกันแม้ดีเอสไอจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องการขายที่ดินไปแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2557 (มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นอธิบดีดีเอสไอ) แต่ปัจจุบันผ่านมาปีเศษแล้ว เรื่องก็ยังไม่มีความคืบหน้าถึงไหน และยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า เรื่องนี้เกิดอะไรขึ้น และจะมีมาตรการอย่างไรต่อ ? 
ดังนั้นเรื่องนี้ ดีเอสไอ ต้องมีคำตอบให้ชัดเจนกับสาธารณชน เพราะหากปล่อยไว้นานเช่นนี้ จะนำเงินดังกล่าวคืนมาได้อย่างไร !
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากสำนักข่าว
www.isranews.org/investigative

ไม่มีความคิดเห็น