ป้ามาเจอหลวงพ่อวัดปากน้ำตอนอายุ 17 ปี เหตุที่มาเจอหลวงพ่อ ก็เพราะว่าหลวงพ่อท่านส่งพระมาสอนสมาธิที่ จ.เชียงใหม่ ป้าเป็นคนเชียงใหม่ ตอนนั้นมีพระมาสอนสมาธิที่วัดอุปคุต ชื่อว่าพระอาจารย์สมจิต มาสอนราวเดือนกันยายน2483 คนแถวตลาดไปกันเยอะ ไปเรียนสมาธิ มีคนมาชวนถึงบ้าน ก็ไปกันหลายคน พอตกเย็นก็ไปวัดนั่งสมาธิกัน ในวิหารของวัดอุปคุตคนเต็มไปหมด เวลาเย็นๆราว 6 โมงหรือหนึ่งทุ่ม คนก็เต็มล้นไปหลังวิหาร ทีหลังก็ขยายไปตามกุฏิพระในวัด ป้าก็ไปเรียนด้วย พวกที่เป็นโรคเขาไปนั่งสมาธิ เพื่อที่จะรักษาโรค พ่อของป้าก็ไปนั่งสมาธิ เพื่อรักษาโรคเหมือนกัน ท่านเป็นโรคเก๊าท์มานาน นั่งไปนั่งไปปรากฏว่าได้ธรรมะ จึงไปชวนคนในครอบครัว และหมู่ญาติมานั่งกัน เวลาที่ไปนั่งก็มีคนทำเป็น รู้เห็นก็มีบ้าง ไปเรียนกันอยู่หลายเดือน คนแถวตลาดไปกันเยอะแยะเลย ทีนี้หลายๆคนก็บอก อยากไปกราบพระอาจารย์ใหญ่ คือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตอนที่มานั่งสมาธิ ป้าก็เริ่มมาเห็นดวง แต่ก็ยังไม่มั่นคง ที่ทำธรรมะเป็นก็มีหลายคน พอไปพบหลวงพ่อครั้งแรก ก็ไปเรียนทำสมาธิ แล้วก็กลับขึ้นมาเชียงใหม่
ต่อมาแม่ชีทองสุข สำแดงปั้น ขึ้นมาสอนที่เชียงใหม่ ต่อจากพระอาจารย์สมจิต ป้าก็ได้ต่อธรรมะแล้วก็ย้อนกลับมาหาหลวงพ่อวัดปากน้ำอีกเมื่อปีพ.ศ.2484 พอเดือนธันวาคมก็เกิดสงครามโลกครั้งที่2 หลวงพ่อท่านก็สั่ง ให้ใช้วิชชาธรรมกายแก้ไขสงคราม ตอนนั้นก็นั่งทำวิชชากันในโรงงานทำวิชชา เปลี่ยนเวรกันเป็นผลัด ผลัดละ 6 ชั่วโมง ต้องทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา ข้างนอกประตูก็มีคนคอยล็อคกุญแจไม่ให้คนออก พี่ญาณีเป็นผู้ดูแล ตอนกลางคืนต้องดับไฟหมด จะได้ไม่มีแสงไฟ เวลาเขาทิ้งระเบิดก็สะเทือนมาถึงวัดปากน้ำบ้างครั้งสองครั้ง หลวงพ่อท่านก็สั่งให้ทำสมาธิคุ้มครองป้องกันบ้านเมือง อาศัยพระคุ้มครอง
พอต่อมาสงครามก็เลิก ตอนนั้นถือว่าไม่แพ้ไม่ชนะ ถ้าแพ้ก็เป็นเมืองขึ้นของเขา ตอนสงครามนั้นข้าวยากหมากแพง แม่ชีท้วมซึ่งทำครัวก็เข้าไปกราบเรียนหลวงพ่อว่า หลวงพ่อข้าวจะหมดแล้ว พอท่านรับรู้ก็ไม่ว่าอะไร แต่อีกวันสองวันต่อมาก็มีคนเอาข้าวบรรทุกเรือมาให้ ถึงเวลาก็จะมีคนเอามาให้ตลอด บรรยากาศในโรงงานทำวิชชาเป็นเรือนไม้2ชั้นล้อมรั้วด้วยสังกะสี พระกับแม่ชีนั่งอยู่คนละชั้น พระท่านก็ขึ้นมาทางฝั่งหอไตร พวกแม่ชีก็ขึ้นทางหน้าวิหารขึ้นมาคนละทาง หลวงพ่อท่านก็ขึ้นมาทางพระ แล้วข้างบนจะมีช่องเล็กๆอยู่สูง เวลาหลวงพ่อท่านพูด เสียงจะผ่านออกมาทางนั้น ข้างในห้องทำวิชชาสมัยแรกๆทั้งที่นั่งที่นอนก็อยู่ในนั้นที่เดียวกัน ตอนหลังจึงแยกออกมาจากที่ทำภาวนาโดยเฉพาะ ใครหมดหน้าที่แล้วก็ขึ้นไปพักผ่อน ครั้งแรกการทำวิชชาจะมี 4 ชุด ในช่วงสงครามนั้นต้องทำตลอด ทั้งรอบเช้า รอบกลางวัน รอบเย็น รอบกลางคืน มีหัวหน้าเวรชุดละ 1-2 คน และในห้องทำวิชชานั้นจะมีเตียงขาดรู้เป็นเตียงสี่เหลี่ยมนั่งได้อย่างเดียวและไม่ปะปนกับคนอื่น ขาดรู้คือตัดขาดจากความรู้สึกข้างนอก ใจดิ่งเข้าไปในธรรมะข้างในอย่างเดียวไม่ถอนถอย จะทำสมาธิได้หลายๆชั่วโมง แล้วก็จะมีมุ้งเล็กๆกันยุงครอบแยกต่างหาก สำหรับที่นั่งรวมกันอยู่จะมีมุ้งหลังใหญ่ แต่คนที่นั่งเตียงขาดรู้จะแยกไปส่วนหนึ่งเลย
Cr : สิงหล เพจบุคคลยุคต้นวิชชา
บทความจากหนังสือบุคคลยุคต้นวิชชา ตอนที่ 20 (เรื่องเล่าโดย คุณยายฉลวย สมบัติสุข บุคคลยุคต้นวิชชาเล่ม1)
คลิกฟัง File เสียง บุคคลยุคต้นวิชชา ตอนที่ 20
ไม่มีความคิดเห็น