ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

มงคลชีวิต​ 38​ ประการ​

มงคลชีวิต 38 ประการ

ที่มาแห่งพระสูตร
ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา กล่าวว่าสาเหตุของการที่พระพุทธเจ้าตรัสมงคลสูตรไว้ว่า ประมาณ 12 ปีก่อนพุทธกาล ประชาชนต่างตื่นตัวว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล กล่าวว่า บ้างก็ว่า วัตถุสิ่งของ เช่น ต้นไม้ สัตว์ หรือว่ารูปเคารพต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล เรื่องราวการอภิปรายเรื่องมงคล ก็ไปถึงภุมเทวา คือเทวดาในระดับพื้นดิน เทวดาก็สนทนากันว่าอะไรคือมงคล ประเด็นนี้ก็ลุกลามไปถึงอากาศเทวา ไปถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ จนถึงพรหมโลกชั้นสุธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ของผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว มีความเข้าใจในเรื่องมงคลชีวิตเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ จึงได้ประกาศให้เทวดาทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จลงมาตรัสรู้ธรรมในอีก 12 ปี ให้ไปถามพระพุทธองค์ในตอนนั้น

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คืนหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 10 หมวด นับได้ 38 ประการ
เนื้อหา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแสดงมงคลอันสูงสุดไว้ 38​ ประการ​ตามลำ​ดับ​ โดย​พระองค​์ทรงแบ่งกลุ่ม​เป็น​ 10​ หมวด ดังต่อไปนี้


1.
1.การไม่คบคนพาล
2.การคบแต่บัณฑิต
3.การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา
ทั้ง 3 ประการนี้เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

2.
4. การอยู่ในสถานที่อันสมควร
5.ความเป็นคนผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แต่กาลก่อน
6.การตั้งตนไว้โดยชอบตามทำนองคลองธรรม
ทั้ง 3 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

3.
7. ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังธรรมและปฏิบัติธรรมมาก
8.ความเป็นผู้มีศิลปวิทยา
9.ความเป็นผู้มีระเบียบวินัยเป็นอันดี
10.การกล่าววาจาที่เป็นธรรมและไพเราะ
แม้ทั้ง 4 ประการนี้ก็เป็นมงคลอันสูงสุด

4.
11. การอุปัฎฐากบำรุงบิดามารดาให้มีสุข
12. สงเคราะห์บุตรให้มีสุข
13. สงเคราะห์ภรรยาให้มีสุข
14. การทำการงานให้เสร็จเรียบร้อยไม่คั่งค้าง
ทั้ง 3 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

5.
15. การให้ทาน
16. การประพฤติธรรม
17. การสงเคราะห์ญาติและคนใกล้ชิดทั้งหลาย
18. การทำการงานที่ไม่ประกอบด้วยโทษทั้งทางโลกและทางธรรม แม้ทั้ง 4 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

6.
19. การงดเว้นจากการทำบาปทั้งหลาย
20. การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
21. ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
ทั้ง 3 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

7.
22. การเคารพต่อบุคคลและสิ่งที่ควรเคารพ
23. ความถ่อมตน (ไม่เย่อหยิ่งจองหอง)
24. ความสันโดษยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่ และสิ่งที่ตนถึงหาได้โดยชอบธรรม
25. ความเป็นผู้มีกตัญญูรู้คุณที่ท่านได้ทำไว้แล้วแก่ตน
26. การได้ฟังธรรมคำสอนของสัตบุรุษตามกาลเวลาอันสมควร
แม้ทั้ง 5 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

8.
27. ความเป็นผู้มีขันติความอดทน
28. ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
29. การได้เห็นสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย
30. การได้เจรจาสนทนาธรรมตามกาลเวลาอันสมควร
ทั้ง 4 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

9.
31. การมีความเพียรเพื่อเผากิเลส
32. การประพฤติพรหมจรรย์คือปฏิบัติตนให้เป็นผู้ประเสริฐ
33. การมีปัญญาเห็นอริยสัจทั้งหลาย
34. การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ทั้ง 4 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

10.
35. การทำจิตไม่ให้หวั่นไหวในโลกธรรมที่มากระทบ
36. การไม่ทำใจให้เศร้าโศก
37. การทำจิตให้ปราศจากธุลี คือกิเลสทั้งหลาย
38. การทำจิตให้ถึงพระนิพพาน อันเป็นแดนอันพ้นจากภัยทั้งหลาย ทั้ง 4 ประการนี้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด ฯ

11.อนึ่ง เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อได้กระทำมงคลทั้งหลายเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง และย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง ทั้งหมดนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นแล ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมงคลสูตรจบลง เทวดาแสนโกฏิบรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วน จำนวนของผู้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี นั้น นับไม่ได้ ในวันต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ที่เทวดาถามเรื่องมงคลและพระองค์ได้แสดงมงคล 38 ประการ ให้แก่ท่านพระอานนท์ได้ฟัง พร้อมทั้งให้ท่านพระอานนท์เรียนมงคล 38 ประการนี้ แล้วให้นำไปสอนแก่พระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้มงคลสูตร สืบทอดมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้

ที่มา: มงคลสูตร 38 ประการ
- พระไตรปิฎก เล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตร

บท"มังคะละสุตตัง"
เอวัมเม สุตังฯเอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิ ยัง วิหะระติเชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม ฯ อะถะโขอัญญะตะรา เทวะตา อะภิกกันตายะ รัตติยา อะภิกกันตะวัณณา เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตวา เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะมิ อุปะสังกะมิตวา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตวา เอกะมันตัง อัฏฐาสิฯ เอกะมันตังฐิตาโข สาเทวะตา ภะคะวนตั ังคาถายะอัชฌะภาสิฯ

(พะหูเทวา มะนุสสา จะ มังคะลานิอะจินตะยุง
อากังขะมานาโสตถานัง พรูหิมังคะละมุตตะมังฯ)


1. อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
2. ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
3. พาหุสัจจัญจะ สิปปัญจะ วินะโย จะ สุสิกขิโต สุภาสิตา จะ ยา วาจา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
4. มาตาปิตุอุปัฏฐานัง ปุตตะทารัสสะ สังคะโห อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
5. ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ ญาตะกานัญจะ สังคะโห อะนะวัชชานิ กัมมานิ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
6. อาระตี วิระตี ปาปา มัชชะปานา จะ สัญญะโม อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
7. คาระโว จะ นิวาโต จะ สันตุฏฐี จะ กะตัญญุตา กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
8. ขันตี จะ โสวะจัสสะตา สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
9. ตะโป จะ พรัหมะจะริยัญจะ อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
10. ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ อะโสกัง วิระชัง เขมัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
11. เอตาทิสานิ กัตวานะ สัพพัตถะมะปะราชิตา สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ ตันเตสัง มังคะละมุตตะมันติ ฯ

** ช่วยจํา อะ, ปะ, พา, มา ทา, อา, คา, ขัน, ตะ, ผุฏ, เอตาฯ
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=41&Z=72&pagebreak=0
- อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตร
CR : รวบรวมและเรียบเรียง โดย ศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกายโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ไม่มีความคิดเห็น