"ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิทยาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นแล อันเราเจริญแล้ว"
การแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกคือ " ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นถึงอานิสงส์ของการทำสมาธิ 5 ประการ คือ:
1. ทำให้ได้จักษุ คือ มีดวงตาเห็นธรรม ได้ดวงตาที่มีลักษณะพิเศษเหนือกว่าดวงตามนุษย์ธรรมดา
2. เกิดญาณ คือ ได้ญาณทัสสนะ ซึ่งเปรียบเสมือนอุปกรณ์หรือกุญแจที่จะเข้าไปรู้แจ้งเรื่องราวต่างๆ
3. เกิดปัญญา คือ ทำให้มีปัญญา มีความสติปัญญารอบรู้มากขึ้น
4. เกิดวิชชา คือ มีความรู้แจ้งเห็นจริงเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ประการ หรือ เรียกว่า วิชชา 3
วิชชา 3 ได้แก่
1. รู้แจ้งเรื่องราวทั้งในอดีตชาติและในอนาคตของตน (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
2. รู้แจ้งในการเกิดการตายของสัตว์ว่าสัตว์เหล่านี้ ตายแล้วไปเกิดที่ไหน ทำกรรมอะไรจึงได้มีรูปร่างอย่างนี้ เป็นต้น (จุตูปปาตญาณ)
3. รู้แจ้งในการกำจัดกิเลสภายในของตนเอง (อาสวักขยญาณ)
5.ได้อาโลโก คือ เกิดแสงสว่าง ใจจะมีความสว่างที่จะช่วยในการเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้นี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อบุคคลได้ทำสมาธิ เขาจะมีดวงตาภายในที่มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น เกิดความรู้คู่กับแสงสว่างคือทั้งเห็น ทั้งรู้ ทั้งสว่าง ควบคู่กันไปจนกำจัดกิเลสให้หมดไปได้ในที่สุด
การนั่งสมาธิ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนเหมือนกับอากาศที่ขาดไม่ได้ ซึ่งถ้าหากเราขาดสมาธิเมื่อใด เมื่อนั้นเราจะขาดสุข เมื่อเราขาดสุข ชีวิตของเราก็จะขาดความสมบูรณ์ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้แสดงธรรมขยายความอานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ในหัวข้อเรื่อง "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ไว้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2498 ไว้ว่า
"(พระพุทธเจ้า) ท่านเอาเรื่องนี้มาแสดงกับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ให้ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ฟัง ท่านแสดงเรื่องของท่านว่า อันเราตถาคตเจ้าตรัสรู้แล้วด้วยปัญญา อันยิ่ง ท่านทำความเห็นเป็นปกติ เห็นอะไร ตาอะไร ตาพระพุทธเจ้า ตาธรรมกาย มีตา ตาดีนัก เห็นด้วยตาธรรมกายนั่นแหละ จกฺขุกรณี ทำให้เห็นเป็นปกติ เห็นความจริงหมด ญาณกรณี กระทำความรู้ให้เป็นปกติ ญาณของท่าน
เมื่อท่านเป็นมนุษย์ ส่วนดวงวิญญาณของท่านก็เล็กเท่าดวงตาดำข้างในของท่าน เมื่อท่านขึ้นไปเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตาของท่านก็มีเหมือนเราเช่นนี้ ตาธรรมกาย มีญาณ ของธรรมกาย มีดวงวิญญาณนั่นแหละกลับเป็นดวงญาณใหญ่โตมโหฬาร ใหญ่โตขึ้น ดวงใส เท่าดวงตาดำ ข้างในแหละที่มีความรู้อยู่ในใจนี้แหละเขาเรียกว่าดวงวิญญาณ พอไปเป็น ธรรมกายเข้าแล้วกลับเป็นดวงญาณทีเดียว วัดผ่าเส้นศูนย์เท่าหน้าตักธรรมกาย ดวงญาณ เท่าหน้าตักธรรมกาย นั้นแหละเรียกว่า จกฺขุกรณี เห็นเป็นปกติ เห็นด้วยตาธรรมกาย เห็น อะไร เห็นเบญจขันธ์ทั้ง 5 ในมนุษย์โลกนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ ของมนุษย์ละเอียด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายทิพย์ ของกายทิพย์ละเอียด เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายรูปพรหม-รูปพรหมละเอียด, อรูปพรหม-อรูปพรหมละเอียด เห็นเบญจขันธ์ทั้ง 5 ของ 8 กายนี้ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นจริง เห็นด้วยตาธรรมกาย เห็นไม่เที่ยงจริงๆ เห็นจริงอย่างนี้ ตามนุษย์เห็นไม่ได้ ตา 8 กาย ในภพนี้เห็นไม่ได้ กายมนุษย์ก็ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กายมนุษย์ละเอียดก็ไม่เห็น กายทิพย์ก็ไม่เห็น กายทิพย์ละเอียดก็ไม่เห็น กายรูปพรหมก็ไม่เห็น กายรูปพรหมละเอียด ก็ไม่เห็น อรูปพรหมก็ไม่เห็น อรูปพรหมละเอียดก็ไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นไม่ได้ ตามันไม่ดี ตามันไม่ถึงขั้นที่จะได้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำไมไม่ถึงขนาดเล่า ก็มัน ขั้นสมถะนี่ กายมนุษย์-กายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์-กายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหม-กายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม-กายอรูปพรหมละเอียด นี่มันขั้นสมถะ แต่รูปฌาณ เท่านั้น เลยไปไม่ได้ พอถึงกายธรรมมันขั้นวิปัสสนา ตาพระพุทธเจ้าท่านก็เห็นเบญจขันธ์ ทั้ง 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แท้ๆ เห็นจริงๆ จังๆ อย่างนั้นละ เห็นแท้ทีเดียว เห็นชัดๆ ไม่ได้เห็นด้วยตากายในภพ เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยฌาณธรรมกาย เห็นด้วยตาพระพุทธเจ้า รู้ด้วยญาณพระพุทธเจ้า เห็นอย่างนี้แหละเห็นด้วยตาของพระตถาคตเจ้า รู้ด้วย ญาณของพระตถาคตเจ้า ธรรมกายนั่นเป็นตัวของพระตถาคตเจ้าทีเดียว ไม่ใช่อื่น เห็นชัด อย่างนี้นี่แหละ เห็นอย่างนี้แหละเขาเรียกวิปัสสนา เห็นเบญจขันธ์ทั้ง 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นเป็นอนิจจังน่ะเห็นอย่างไร เห็นตั้งแต่กายมนุษย์เกิด กายมนุษย์เกิดไม่อยู่ที่ เกิดเรื่อยๆ เกิดริบๆ เหมือนไฟจุดอยู่ มีไส้ มีน้ำมัน มีตะเกียง จุดมันก็ลุกโพลง เราเข้าใจ ว่าไฟดวงนั้นเป็นอย่างนั้นแหละ ไอ้กายมนุษย์มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ตาธรรมกายไม่ เห็นอย่างนั้น เห็นไฟเก่าหมดไป ไฟใหม่เดินเรื่อยขึ้นมา ไฟเก่าหมดไปไฟใหม่เดินเรื่อย ขึ้นมา แล้วก็เอามือคลำดูข้างบน ก็รู้ ร้อนวูบๆๆๆ ไป อ้อ! ไฟใหม่เกิดเรื่อย กายมนุษย์นี้ก็ เช่นเดียวกัน ไอ้เก่าตายไป ไอ้ใหม่เกิดเรื่อย หนุนไม่ได้หยุดเหมือนไฟ เหมือนดวงไฟ อย่างนั้นแหละ ไม่ขาดสาย มันเกิดหนุนอย่างนั้น นั่นเห็นขนาดนั้น เห็นเกิดเห็นตายเรื่อย เกิดแล้วก็ตายไป เกิดแล้วก็ตายไป ไม่มีหยุดละ เหมือนกันหมดทั้งสากลโลก เห็นทีเดียวว่า มีแต่เกิดกับดับ ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งทั้งปวงมีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมมีความเกิดเสมอ สิ่งทั้งปวงมีเกิดเสมอ มีความดับเสมอ มีเกิดกับดับ 2 อย่างเท่านั้น หมดทั้งสากลโลก เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกายจริงๆ อย่างนี้ นี้ทำวิปัสสนา เห็นจริงเห็นจังอย่างนี้"
ที่มา:
1."ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" พระไตรปิฎก เล่มที่ 19 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (ปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา : ปฐมบทแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หลังจากที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ทำให้เกิดปฐมสาวก จึงเป็นวันแรกที่เกิดมีพระสงฆ์ขึ้นในโลก และเป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัยครบ คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ)
2.พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร): ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2498
รวบรวมและเรียบเรียงโดยศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
ไม่มีความคิดเห็น