ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

โดยเนื้อแท้ มนุษย์ เป็นสิ่งที่มีชีวิต ที่มีคุณความดีเป็นพื้นฐาน

 


ในยามเดือดร้อน การช่วยเหลือกันโดยคุณธรรม

เป็นเรื่องสำคัญกว่าการผูกโกรธต่อกันมากนัก

เมื่อเราผ่านโลกผ่านชีวิตมาสักช่วงหนึ่ง 

เราจะพบว่าในคราวที่เราตกทุกข์ได้ยากนั้น 

1. บางครั้งคนที่ช่วยเหลือเรา 

เขาก็ไม่ได้ชอบเรา บางคนถึงขั้นรังเกียจเราด้วยซ้ำ

แต่เขาช่วยด้วยคุณธรรมประจำใจ 

คือโกรธเกลียดกันอย่างไร เขาก็ช่วย

เพราะไม่อาจทนเห็นคนอดตายไปต่อหน้าต่อตา

2. เช่นเดียวกัน บางครั้งคนที่เราช่วยเหลือเขา 

เขาก็ไม่ได้ชอบเรา อีกทั้งยังเคยร้ายกาจกับเราสารพัด 

เคยดูถูกดูแคลน เคยกลั่นแกล้ง เคยพูดจาทิ่มแทงสารพัด 

แต่เราก็ยังช่วยทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาไม่ได้ชอบเรา 

เพราะไม่อาจทนเห็นคนอดตายไปต่อหน้าต่อตา

การเห็นความสำคัญของการช่วยชีวิตคน

มาก่อนความโกรธ ความเกลียด ความชิงชังนั้น

คนที่รู้จักยกรู้จักวางแบบนี้นั่นได้นั้น

ก็เพราะโดยเนื้อแท้แล้วเป็นคนที่มีคุณธรรมประจำใจ

คุณธรรมข้อไหน คุณธรรมนี้เรียกว่าอะไร คุณธรรมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

คุณธรรมนี้ เรียกว่า พรหมวิหาร 4

1. เมตตา คือ ปรารถนาให้เขามีความสุข

2. กรุณา คือ ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ 

3. มุทิตา คือ ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี 

4. อุเบกขา คือ วางใจเป็นกลางตั้งมั่นอยู่ในธรรม 

คุณธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ 

เกิดขึ้นจากการปลูกฝังเลี้ยงดูในวัยเด็ก

จากการเป็น "ผู้รับ" และเป็น "ผู้ให้" 

ผ่านสี่สถานการณ์สำคัญของชีวิต 

นั่นคือ ยามปกติ ยามเดือดร้อน 

ยามประสบความสำเร็จ และยามถูกข่มเหงรังแก

1. ยามปกติ 

มีต้นแบบของการให้ 

ได้รับการดูแลอย่างอบอุ่น 

ได้กินอิ่มนอนหลับอย่างมีความสุข 

มีความสุขทั้งในฐานะของผู้รับและฐานะของผู้ให้ 

จึงเกิดเป็นสัมมาทิฐิข้อที่ 1 ขึ้นมาว่า

การให้ทานในยามปกติเป็นสิ่งที่ดีจริงควรทำ  

ความสุขจากสัมมาทิฐิข้อที่ 1 นี้เอง 

ได้งอกงามกลายเป็นคุณธรรมข้อ "เมตตา"

คือความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข

2. ยามเดือดร้อน 

ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที 

ไม่ถูกทิ้งขว้างโดยไม่เหลียวแล 

ทำให้มีต้นแบบของการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากขึ้นมาในใจ

จึงเกิดเป็นสัมมาทิฐิข้อที่ 2 ขึ้นมาว่า

การสงเคราะห์ในยามยากเป็นสิ่งที่ดีจริงควรทำ

ความสุขจากสัมมาทิฐิข้อที่ 2 นี้เอง

ได้งอกงามกลายเป็นคุณธรรมข้อ "กรุณา"

คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3. ยามประสบความสำเร็จ 

เคยได้รับคำชื่นชมยินดีเมื่อได้ดี

ที่เป็นแบบนี้เพราะว่ามีคนดีๆ อยู่รอบตัวมากมาย 

จึงไม่มีใครอิจฉากัน มีแต่มาร่วมแสดงความยินดีอย่างอบอุ่น

จึงเกิดเป็นสัมมาทิฐิข้อที่ 3 ขึ้นมาว่า 

การยกย่องคนทำความดีเป็นสิ่งที่ดีจริงควรทำ

ความสุขจากสัมมาทิฐิข้อที่ 3 นี้เอง

ที่งอกงามกลายเป็นคุณธรรมข้อมุทิตา 

คือความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

4. ยามถูกข่มเหงรังแก 

เคยได้รับการปกป้องอย่างยุติธรรม

ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว

การที่ได้รับการปกป้องเป็นแบบนี้

ก็เพราะว่าผู้หลักผู้ใหญ่และเพื่อนพ้องที่อยู่รอบตัว

เป็นผู้ที่รักความยุติธรรม มีความรอบรู้ในเหตุและผล 

มีปัญญาตัดสินดีชั่วได้กระจ่างชัดเจน

ทั้งหลักการ เหตุผล หลักฐาน และพยาน 

จึงเกิดป็นสัมมาทิฐิข้อที่ 4 ขึ้นมาว่า 

กฎแห่งกรรมมีจริง ทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง 

ความสุขที่ได้รับจากสัมมาทิฐิข้อที่ 4 นี้เอง

ที่งอกงามกลายเป็นคุณธรรมข้ออุเบกขา

คือการวางใจตั้งมั่นอยู่ในธรรม 

เพราะมั่นใจแล้วว่าทำดีต้องได้ดีทำชั่วต้องได้ชั่วนั่นเอง

ชีวิตคนนั้นเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

ในยามปกติก็แบ่งปันกัน 

ในยามเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกัน

ในยามได้ดีก็แสดงความดีใจต่อกัน 

ในยามถูกข่มเหงรังแกก็ให้การปกป้องอย่างยุติธรรม

การสร้างบุญกุศลไว้ในสถานการณ์ต่างๆ ของชีวิต

จึงเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันภัยในการอยู่ร่วมกันในวันนี้

และเป็นการสร้างหลักประกันที่ดีในวัฏสงสาร

1. ในเบื้องต้น การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเช่นนี้ 

ย่อมทำให้ตัวเราได้บุญกุศล

ทำให้สังคมยังพอมีพื้นที่ความสุขของการอยู่ร่วมกัน

ทำให้ผู้คนไม่ได้รู้สึกว่าโลกนี้เลวร้ายไปทั้งหมดทุกหย่อมหญ้า

ทำให้ผู้คนยังมีกำลังใจดำเนินชีวิตต่อไป

2. ในเบื้องกลาง ย่อมเป็นการสร้างเครือข่ายคนดีไว้รอบตัว

เวลาเกิดภัยอันตรายใดๆ ก็จะได้มีรั้วคนดีไว้ป้องกันพายุร้าย

แม้ถึงคราวต้องผจญวิบากกรรมก็ไม่เลวร้ายถึงขั้นสิ้นไร้ไม้ตรอก

ไม่ถึงขั้นอับจนสิ้นหนทาง เพราะมีบุญสร้างเครือข่ายคนดีไว้ป้องกันตัว

3. ในเบื้องหน้า คือการสร้างหลักประกันว่าภพชาติต่อๆ ไป 

เราจะได้เกิดมาพร้อมสมบัติที่หาได้ยาก 6 ประการ 

1. คติสมบัติ คือได้เกิดเป็นมนุษย์ 

2. กาลสมบัติ คือได้พบคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

3. ปเทสสมบัติ คือได้อยู่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา

4. กุลสมบัติ คือได้เกิดในตระกูลที่่นับถือพระพุทธศาสนา

5. อุปธิสมบัติ คือได้อัตภาพที่บริบูรณ์ มีสุขภาพที่เเข็งเเรง ไม่พิการ บ้า ใบ้ ปัญญาอ่อน ตาบอด หูหนวก

6. ทิฎฐิสมบัติ คือได้เป็นผู้มีสัมมาทิฎฐิในการดำเนินชีวิต 

เมื่อเราพิจารณาเห็นความจริงดังนี้แล้ว ก็จงตั้งใจสร้างความดีต่อไป 

เพราะชีวิตในสัมปรายภพนั้น สิ่งใดที่ทำไว้สิ่งนั้นเป็นของเรา 

สิ่งใดที่เราไม่ได้ทำไว้ สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นของเรา 

เราทำอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น 

หากเราปรารถนาทั้งมนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ 

เพื่อมุ่งไปที่สุดแห่งธรรม ก็ต้องขยันสร้างบุญอย่างไม่เบื่อหน่ายกันต่อไป

ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่ออนาคตที่สดใสของตัวเราเอง 

-----------------------

15 กรกฎาคม 2564

20.00 น.

cr. https://quotes072.blogspot.com/2021/07/16-01.html

ไม่มีความคิดเห็น