ค้นหาบล็อกนี้

Page Nav

HIDE

Grid

GRID_STYLE

Hover Effects

TRUE

Gradient Skin

{fbt_classic_header}

Update News:

latest

พระปัญจวัคคีย์ 5 พระอรหันตสาวกรุ่นแรกของโลก

รู้จักพระปัญจวัคคีย์ 5 พระอรหันตสาวกรุ่นแรกของโลก

1. พระปัญจวัคคีย์ คือใคร ?
พระปัญจวัคคีย์ คือ กลุ่มนักบวชทั้ง 5 ที่ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 51 ปีก่อนพุทธศักราช เมื่อทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ จากราชวงศ์ศากยะทรงผนวชแล้ว ทั้ง 5 ท่านจึงรวมกลุ่มเพื่อสนับสนุนปรนนิบัติ และเพื่อฝึกฝนอบรมตนตามแนวทางของพระองค์ เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จึงนับเป็นกลุ่มศิษย์ชุดแรกได้ฟังปฐมเทศนา, ได้เป็นภิกษุรุ่นแรก และได้เป็นพระอรหันต์รุ่นแรกในพระพุทธศาสนา

พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป มีรายนามเรียงตามลำดับดังนี้ โกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ และอัสสชิ พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดเป็นชาวกรุงกบิลพัสดุ์ เฉพาะโกณฑัญญะเป็นผู้เคยทำนายลักษณะพระพุทธเจ้าตั้งแต่ตอนประสูติใหม่ ๆ ส่วนอีก 4 ท่าน เป็นบุตรของพราหมณ์ที่ทำนายลักษณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วมกับโกณฑัญญะ เพราะมีความเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะต้องได้เป็นพระพุทธเจ้าจึงได้ออกบวชตาม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระพุทธองค์ได้แสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล และกราบทูลขอบวชเป็นพระสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา โกณฑัญญะได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู เรียกว่า รู้ราตรีนาน คือเป็นผู้รู้ธรรมก่อนใคร และได้บวชก่อนผู้อื่นในพระพุทธศาสนา จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประทานสั่งสอนธรรมให้แก่ปัญจวัคคีย์อีก 4 ท่าน ให้บรรลุโสดาบันแล้วพระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ทั้ง 4 รูป ต่อมาในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 8 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 2 ชื่อว่า “อนัตตลักขณสูตร” คือสูตรที่ว่าด้วยขันธ์ 5 เป็นอนัตตา ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนาทั้ง 5 องค์ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน ทำให้ ณ เวลานั้น นับได้ว่า โลกได้มีพระอรหันต์แล้ว 6 องค์ รวมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2.ชาติกำเนิดและการศึกษา

พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ
พระวัปปะเถระ เดิมชื่อ วัปปะ
พระภัททิยะเถระ เดิมชื่อ โคธา
พระมหานามะเถระ เดิมชื่อ มหานามะ
พระอัสสชิเถระ เดิมชื่อ อัสสชิ

พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ท่านล้วนเกิดในตระกูลพราหมณ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพทและเรียนมนต์ (วิชาทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ)

3.วันที่บรรลุพระโสดาบันและบรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 8 โกณฑัญญะก็ได้มีดวงตาเห็นธรรมบรรลุพระโสดาบันทันที และกราบทูลขอบวชเป็นพระสงฆ์ในวันเดียวกันนั้น พระพุทธองค์ทรงบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธองค์ทรงบวชให้) เป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประทานสั่งสอนธรรมให้แก่ปัญจวัคคีย์อีก 4 ท่าน ให้บรรลุโสดาบันแล้วพระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ทั้ง 4 รูป
โดยวัปปะ ได้บรรลุโสดาบันและอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8
ภัททิยะ ได้บรรลุโสดาบันและอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันแรม 2 ค่ำเดือน 8
มหานามะ ได้บรรลุโสดาบันและอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันแรม 3 ค่ำเดือน 8
อัสสชิ บรรลุโสดาบันและอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันแรม 4 ค่ำเดือน 8 หลังจากนั้นในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 8 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 2 ชื่อว่า “อนัตตลักขณะสูตร” คือสูตรที่ว่าด้วยขันธ์ 5 เป็นอนัตตา ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนาทั้ง 5 องค์ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน

4.สาเหตุที่ออกบวช

4.1.พระอัญญาโกณฑัญญะ สาเหตุที่ออกบวช คือ ท่านเคยเป็นพราหมณ์ 1 ใน 8 คนที่ได้รับนิมนต์เข้ารับภัตตาหารในพระราชวังกรุงกบิลพัสดุ์ในวันขนานพระนามเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายสิทธัตถะหากออกผนวชจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเจ้าชายออกบวชท่านได้ตามและโกณฑัญญะพราหมณ์ยังไปเชิญชวนบุตรพราหมณ์ ที่ร่วมทำนายเส้นทางอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะด้วยกันออกบวช แต่มีเพียงจำนวน 4 คนที่ตัดสินใจออกบวชด้วย

4.2 พระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะและพระอัสสชิ เหตุผลที่ออกบวช เนื่องด้วยพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่านทั้ง 4 นี้เคยเป็นพราหมณ์ 4 ใน 8 คนที่ได้รับนิมนต์เข้ารับภัตตาหารในพระราชวังกรุงกบิลพัสดุ์ในวันขนานพระนามเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายสิทธัตถะหากออกผนวชจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บิดาของท่านทั้ง 4 จึงตั้งใจว่าหากเจ้าชายออกผนวชตนจะออกบวชตาม แต่ด้วยบิดาของท่านทั้ง 4 ล้วนมีอายุมากแล้ว และเกรงว่าตนอาจจะอยู่ไม่ถึงวันที่เจ้าชายบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านจึงสั่งเสียให้ลูกชายของทั้ง 4 ออกบวช หากเจ้าชายออกผนวชตามคำทำนาย โดยเมื่อเจ้าชายออกบวช ท่านทั้ง 4 ได้ตามโกณฑัญญะพราหมณ์ออกบวชด้วย

5.บุพกรรมในอดีตชาติ

5.1 บุพกรรมอดีตชาติของพระอัญญาโกณฑัญญะ มีความเป็นมาหลักๆ อยู่ 2 ชาติในอดีต ได้แก่ อดีตชาติหนึ่งคือท่านได้ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชาวหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู (แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน หมายถึงได้บวชก่อนใครได้รู้ได้ฟังมาก) แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านตอกย้ำความศรัทธาด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน 7 วัน วันสุดท้ายได้สั่งให้เปิดเรือนคลังเก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศมาถวายพระพุทธเจ้าและถวายพระสาวกแล้วกราบทูลว่า

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุรูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเมื่อ 7 วันก่อนจากนี้ด้วยเถิด นั่นคือขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด” พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่จึงทรงพยากรณ์ว่า "ในอีก 100,000 กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าสมณโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู"

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้สร้างมหาทานบารมีอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ ก็ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์อีก จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี จนมาถึงอีกชาติหนึ่งที่ท่านเกิดมาพบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรของกุฎุมพี ชาวเมืองพันโฌฤฆฏธุมดี มีชื่อว่า “มหากาล” มหากาลมีน้องชายชื่อ “จูฬกาล” (ซึ่งในชาติสุดท้ายคือสุภัททะปริพาชก) ทั้ง 2 มีอุปนิสัยแตกต่างกัน กล่าวคือ มหากาลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่จูฬกาลกลับไม่เลื่อมใส ดังนั้น ทั้ง 2 จึงมีความเห็นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการทำบุญ

มหากาลได้แบ่งนาออกเป็น 2 ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของตน และอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นสมบัติของจูฬกาล แล้วได้นำเอาผลิตผลที่เกิดจากนาส่วนของตนนั้นมาทำบุญ จนจวบสิ้นอายุขัย จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่าง ๆ และในที่สุด ด้วยบุญบารมีและจิตมุ่งมั่นอธิษฐานที่สั่งสมมาอย่างหนาแน่นท่านก็ได้เกิดมาเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกของพระพุทธศาสนาในภพชาติสุดท้าย

5.2 ส่วนบุพกรรมในอดีตชาติของพระปัญจวัคคีย์อีก 4 รูปนั้นในพระไตรปิฎกไม่ได้ระบุไว้ แต่อรรถกถาจารย์นักวิชาการพระพุทธศาสนาเชื่อว่าทั้ง 4 รูป ย่อมติดตามสร้างบารมีมาอย่างยาวนานกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ และต้องสร้างบุญบารมีเคียงบ่าเคียงไหล่มากับพระอัญญาโกณฑัญญะในอดีตชาติด้วย และต้องมีผังแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ผ่านการอบรมขัดเกลาตนเองมาข้ามภพข้ามชาติ และอธิษฐานที่จะมาเป็นพระสงฆ์ชุดแรกของโลก บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสาวกรุ่นบุกเบิกก่อนใครในโลก เป็นพระปัญจวัคคีย์ เป็นพระอสีติมหาสาวก และได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาลได้อย่างเข้มแข็ง

6.ความสำคัญของพระปัญจวัคคีย์ในพระพุทธศาสนา

6.1 พระอัญญาโกณฑัญญะเคยทำนายพระลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะ รวมถึงพระปัญจวัคคีย์อีก 4 รูปก็เคยมีบิดาเป็นพราหมณ์ที่เคยทำนายพระลักษณะของพระพุทธเจ้าในช่วงประสูติ ออกบวชติดตามเจ้าชายสิทธัตถะ พระบรมโพธิสัตว์และได้รับฟังปฐมเทศนา เป็นพระสงฆ์ 5 รูปแรกในพระพุทธศาสนา ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะด้านรัตตัญญู เมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุพระอรหันต์และได้ผ่านการออกพรรษาที่ 1 พรัอมปวารณาแล้ว พระพุทธองค์ทรงมอบภารกิจให้ท่านและคณะพระอรหันต์สาวกชุดแรกไปประกาศพระศาสนาเป็นรุ่นแรก จำนวน 60 รูป ท่านได้เดินทางไปยังบ้านเดิมของท่าน ได้นำหลานชายชื่อ ปุณณมันตานี ซึ่งเป็นบุตรของ นางมันตานี ผู้เป็นน้องสาวของท่านมาบวช และได้มีชื่อว่า พระปุณณมันตานีบุตร และได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้รัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน

6.2 พระอัสสชิ นับได้ว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาช่วงต้นพุทธกาล เป็นพระสงฆ์กลุ่มแรกที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีกิริยามารยาทน่าเลื่อมใสมาก จนทำให้อุปติสสะมาณพ บุตรแห่งนายบ้านนาลันทาเลื่อมใสและบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพราหมณ์คนนี้ภายหลังคือพระสารีบุตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสถาปนาเป็นพระมหาอัครสาวกเบื้องขวา และเป็นเอตทัคคะด้านมีปัญญามาก พระอัสสชิได้กล่าวคาถาหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ในพระคาถาสำคัญในพระพุทธศาสนา มีที่มาคือ เมื่ออุปติสสะ (ภายหลังคือพระสารีบุตร) เห็นรูปกายอันน่าเลื่อมใสของพระอัสสชิ จึงถามพระอัสสชิว่า "ใครเป็นศาสดาของท่านและศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร?" พระอัสสชิตอบคำถามด้วยความถ่อมตนว่าท่านเพิ่งบวชได้ไม่นาน ขอสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยย่อว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ

"ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้" การตอบคำถามของพระอัสสชิครั้งนี้นับเป็นการเผยแผ่ธรรมที่สำคัญเพราะทำให้อุปติสสะมีดวงตาเห็นธรรมและเป็นจุดเริ่มต้นของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ หรือ 2 พระอัครสาวกในกาลต่อมา

6.3 ส่วนของพระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะนั้น แม้จะเป็น 3 ใน 5 ของกลุ่มพระปัญจวัคคีย์และอสีติมหาสาวก แต่หลังจากตรัสรู้ธรรมแล้ว อรรถกกถาจารย์นักวิชาการพระพุทธศาสนาได้กล่าวว่า ท่านไม่ปรากฏบทบาทสำคัญในทางพระพุทธศาสนาตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่ผู้เรียบเรียงเชื่อมั่นว่า ท่านทั้ง 3 ต้องมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่มาก ๆ แต่ด้วยระยะเวลาผ่านมากว่า 2,600 ปี รายละเอียดต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวกช่วงต้นพุทธกาล อาจไม่ได้เล่าขานและบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อย่างไรก็ตาม ท่านทั้ง 3 นับเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล

7.บั้นปลายชีวิตก่อนเข้าพระนิพพาน

7.1 พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่สุดในสมัยพุทธกาล มีอัธยาศัยไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้นอยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรงกันว่า เป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่ท่านจะเข้าพระนิพพาน ท่านได้กราบทูลลาพระพุทธองค์ว่าจะไปจำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง นอกจากต้องการความสงบดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวของท่าน อีก 3 ประการคือ

1.ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ กิจการพระศาสนาด้านต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระผู้เฒ่าชราอย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันจะร่วงโรยและใกล้แตกดับเข้าไปทุกขณะ

2.ท่านมีความเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ที่ต้องคอยต้อนรับผู้ไปมาหาสู่ ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมสำหรับพระแก่ชราอย่างท่าน

3.ท่านเบื่อหน่ายในความดื้อรั้น ของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลัง ๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล ท่านได้อยู่จำพรรษา ในป่าหิมพานต์ บริเวณใกล้สระฉัททันต์ เป็นเวลานาน 12 ปี วันที่ท่านจะนิพพาน ท่านพิจารณาอายุสังขารแล้ว ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานในบรรณศาลาที่พักริมสระฉัททันต์นั้น พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก ได้เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่าน

7.2 ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ไม่พบข้อความที่ระบุว่า พระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะ และพระอัสสชิ ว่าพระอรหันต์ทั้ง 4 ท่านดับขันธปรินิพพานเมื่อใดและที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงปรินิพพาน

8.สรุป: ทำไมต้องเป็น"พระปัญจวัคคีย์" ที่มีดวงตาเห็นธรรมและบวชเป็นพระสงฆ์ก่อนใคร ?

ด้วยเหตุที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มุ่งสู่มรรคผลนิพพานเป็นประการสำคัญ พร้อมเพียรพยายามสั่งสมอบรมตนเองและตั้งจิตปรารถนาตั้งแต่อดีตชาติอย่างยาวนานนับแสนกัป ส่งผลให้ในปัจจุบันชาติได้รู้แจ้งในธรรมและบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ดังความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์อีก 4 รูปคือ พระวัปปะ, พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งล้วนแต่มีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ท่านก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้อย่างสมบูรณ์พร้อม คือ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใครและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุด ซึ่งล้วนเป็นผลจากการไม่ทอดทิ้งเป้าหมาย ยึดมั่นในมโนปณิธาน และความเพียรพยายามของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5

ดังนั้น ประวัติชีวิตพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูปนี้ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึงพลานุภาพแห่งพระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้เรื่องกฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งการกระทำ ผลจากการกระทำทั้งหลายของเราไม่ว่าทางดี หรือ ร้ายในอดีตชาติ ย่อมส่งผลตามมาในชาติปัจจุบันและอนาคตต่อไป และผลแห่งกรรมที่เราทำไว้ในปัจจุบันทั้งดีและร้าย ย่อมส่งผลต่อเราในอนาคตอย่างแน่นอนเหมือนดังเงาที่คอยติดตามตัวหรือรอยเกวียนตามกงล้อเกวียน

ยิ่งไปกว่านั้น ชีวิตอันทรงพลังงดงาม ล้นเปี่ยมด้วยคุณค่าและบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระปัญจวัคคีย์ ย่อมเป็นแรงบันดาลใจที่ทรงพลังให้กับชีวิตของเราเช่นกัน ในอนาคตจะเป็นเช่นไร ย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตัวเราเองกระทำลงไป ไม่ว่าเป็นทางกาย, วาจาและใจ ไม่ว่าดีหรือร้าย ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเล็ก ล้วนมีผลทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น เพื่อการออกแบบสร้างชีวิตอนาคตของเราให้มีความสุข, ประสบความสําเร็จ, รุ่งเรืองงดงามและสว่างไสว เราจึงควรต้องมีที่่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดเป็นสรณะ คือ พระรัตนตรัย คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาอันเปึ่ยมด้วยพระบริสุทธิคุณ, พระปัญญาคุณและพระมหากรุณาธิคุณ, พระธรรมอันประเสริฐ และพระสงฆ์ ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ไปสู่ทางพระนิพพาน ทางที่จะพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด ทุ่มเทสร้างบุญบารมีอย่างเข้มแข้ง อธิษฐานจิตเพื่อให้ใจมั่นคงหนักแน่น ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวางกางกั้น ต้องยึดมั่นในเป้าหมายอุดมการณ์และมุ่งมั่นสร้างบารมีทุกๆ ประการต่อไป จนกว่าจะถึงพระนิพพานดังบุคคลต้นแบบคือ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัญจวัคคีย์ ยอดมหาเถระอรหันตสาวกรุ่นแรกของโลก.

ที่มา: เรื่องพระปัญจวัคคีย์ พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1, พุทธประวัติ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา,
ภาพประกอบ :จากสถาบันพุทธศิลป์แห่งโลก
เพจ IPeace Meditation Centre

ไม่มีความคิดเห็น