ยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน เราจะพบรายชื่อต้นไม้นานาพันธุ์ที่มีในพุทธประวัติ นับตั้งแต่พระองค์เมื่อครั้งเป็นพระกุมารที่ทรงประสูติ ณ ใต้ต้นสาละ มาจนกระทั่งพระองค์ทรงดับขันธปรินิพพาน ณ ใต้ต้นสาละ
รวม "10 ต้นไม้สำคัญในพุทธประวัติ" จะพาทุกท่านนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลากลับไปในสมัยพุทธกาลกว่า 2,600 ปีที่ผ่านมา เพื่อไปสัมผัสบรรยากาศยุคพุทธกาลและไปพบต้นไม้ 10 ชนิดที่เลือกคัดสรรมาฝากจากต้นไม้จำนวนหลากหลายพันธุ์และต้นไม้แต่ละต้นนี้เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราด้วยสาเหตุอย่างไรกันบ้าง...?
1.ต้นศรีมหาโพธิ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus religiosa L.
วงศ์ : Moraceae ต้นอัสสัตถะ หรือ ต้นศรีมหาโพธิ์นี้ เป็น 1 ในต้นไม้ที่สำคัญมากที่สุด เพราะในพุทธประวัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนั่งประทับใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์ต้นนี้เพื่อบำเพ็ญเพียรและตรัสรู้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม แคว้นมคธ ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ อายุยืนยาวมาก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แผ่กิ่งก้านตรงออกไปและแผ่คลุมคล้านร่ม ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้างโคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่ โดยจัดเป็นพรรณไม้ที่มีรูปทรงของลำต้นส่วนงามชนิดหนึ่ง
2.ต้นสาละ
ชื่อวิทยาศาสตร์: Shorea robusta Roxb.
วงศ์ : Dipterocarpaceae
สาละ เป็นคำจากสันสกฤต อินเดียเรียกต้นสาละว่า "Sal" เป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญมากเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ทั้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนี้
ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ
ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระสูติ จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระสูติการที่กรุงเทวทหะ อันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณี เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า สวนลุมพินีวัน เป็นสวนป่าไม้ "สาละ" พระนางได้ทรงหยุดพัก ปัจจุบันคือตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละ และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์ วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
ก่อนตรัสรู้
เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจุอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้การลอยถาดทองคำนี้สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชลาได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฎว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควงไม้สาละ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ต้นโพธิ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลารุ่งอรุณ ณ วันเพ็ญเดือน 6
พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เมื่อพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ แล้วพระองค์ก็ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวานอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวาและแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน ต้นสาละอินเดีย อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นพะยอมและต้นรัง มีจุดเด่นคือดอกที่ออกเป็นพวงสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและมีความสวยงามเฉพาะตัว
3.ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus Bengalensis Linn.
วงศ์: Moraceae ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ขณะประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา นางสุชาดานำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองมาถวาย หลังเสวยทรงใช้ถาดทองอธิษฐานเสี่ยงทายลงในน้ำ ก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากนั้นยังบางโอกาสก็มีกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงประทับเพื่อแสดงธรรมอยู่ใต้ต้นนิโครธ
และยังเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 ภายหลังทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ประทับนั่งภายใต้ร่มเงาของอชปาลนิโครธเป็นเวลา 7 วัน ต้นอชปาลนิโครธอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธหรือที่รู้จักกันในชื่อของต้นกร่าง มีลักษณะทั่วไปคล้ายต้นไทรแต่ใบจะกลมรีรูปไข่ปลายใบมนและมีขนาดใหญ่กว่าไทรย้อยหรือไกร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ ลำต้นตรงขึ้นเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนาทึบแผ่ออกกว้างมีรากอากาศห้อยย้อยลงมามากมาย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้น นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็นแต่ต้องมีพื้นที่กว้างเพียงพอ ผลสามารถรับประทานได้และเป็นอาหารของนก
4.ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barringtonia Acutangula (L.) Gaertn.
วงศ์ : Lecythidaceae
ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึงสัปดาห์ที่ 6 ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้จิกอันมีชื่อว่า มุจลินท์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้ ๆ กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ิพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นมุจลินท์เป็นเวลา 7 วัน โดยมีพญามุจลินท์นาคราชมาวางขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ จากสายลมและสายฝน
ต้นจิก หรือมุจลินท์ เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ แต่จะผลิใบใหม่ได้รวดเร็ว สูงราว 5-15 เมตร มีทั่วไปทางภาคตะวันออกและภาคกลางของอินเดีย ตลอดลังกาจนถึงย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยมีขึ้นอยู่ทั่วประเทศ ในที่ราบลุ่มตามห้วย หนอง แม่น้ำ มีหลายชนิด เช่น จิกน้ำ จิกบก จิกนา จิกบ้านหรือจิกสวน และจิกเล เป็นต้น ลำต้นของจิกเป็นปุ่มปม และเป็นพู ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ผิวใบมัน ขอบใบจักถี่ มีใบดกหนา ดอกออกเป็นช่อยาวห้อยเป็นระย้า ยาวประมาณเกือบครึ่งเมตร กลีบดอกสีขาว มีเกสรตัวผู้สีชมพูถึงแดงจำนวนมาก ผลยาวรี มีสันตามความยาวของผล 4 สัน และที่ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ด้วย
5. ต้นราชยตนะ (ต้นเกด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manilkara Hexandra (Roxb.) Dubard.
วงศ์: Sapotaceae
ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึง สัปดาห์ที่ 7 ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้เกตอันมีชื่อว่า ราชายตนะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ใกล้ ๆ กับต้นศรีมหาโพธิ์ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยสิทุตติสุขเป็นเวลา 7 วัน นับเป็นสัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุข ในช่วงนี้เองได้มีพ่อค้า 2 คนนำกองเกวียนค้าขายจากแดนไกล คืออุกกลชนบท ได้ถวายเสบียงเดินทาง สัตตุผง และ สัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้า พ่อค้าทั้งสองคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ซึ่งทั้งสองมีความปลื้มปีติมาก ได้ประกาศตนเป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ 2 ประการเป็นที่พึ่งที่ระลึกคือถึงพระพุทธและพระธรรมเนื่องจากขณะเวลานั้น ยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้น
เกดเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 15–25 เมตร กิ่งมีลักษณะคดงอเหมือนข้อศอก ทุกส่วนมียางขาว ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มักออกดอกราวเดือนมกราคม-กรกฎาคม ผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายผลมีติ่งแหลม ผลสุกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เนื้อนุ่ม กินได้ รสหอมหวานช่วยให้ชุ่มคอ นิยมนำมาใช้สร้างเรือเพราะเนื้อไม้ที่แข็งแรง และทนทาน
6.ดอกบัว (บัวหลวง)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nelumbo nucifera Gaertn.
วงศ์ : Nelumbonaceae
ดอกบัวมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาก ที่มีกล่่าวถึงดอกบัว ทั้งด้านภาพลักษณ์ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธเชื่อมั่นว่าดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากคำสอนที่ว่า บัวต้นกัป มีจำนวนเท่าใด จะแสดงให้ทราบในกัป ๆ นั้นจะมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดเท่ากับจำนวนบัวต้นกัป เป็นต้น เช่น ในภัทรกัปนี้ มีบัวต้นกัป 5 ดอก ก็จะมีพระพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้น 5 พระองค์ หรือความเชื่อมั่นว่าดอกบัวคือความบริสุทธิ์และปัญญา
ดอกบัวปรากฎในพุทธประวัติตั้งแต่ก่อนการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ พระนางสิริมหามายาผู้เป็นมารดาทรงมีพระสุบินนิมิตว่า พระนางได้เข้าไปอยู่ในป่าหิมพานต์ แล้วพบช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากเขาเข้ามาหาพระนางชูงวงอันจับปทุมชาติสีขาวมีกลิ่นหอม จนถึงยามเมื่อประสูติเจ้าชายสิตธัตถะมาบังเกิดยังเสด็จดำเนินไป 7 ก้าว แต่ละก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ นอกจากนั้นดอกบัวยังปรากฎในคำสอนและเหตุการณ์อีกมากมายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ คำสอนหนึ่งที่สำคัญคือทรงเปรียบบุคคลเป็นดอกบัว 4 เหล่า เนื่องด้วยพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มานั้นยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างลึกซึ้งเท่ากัน บัวหลวงเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียวที่ระดับน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือวิธีการแยกไหล ออกดอกบายในช่วงเช้าดูความสวยและมีกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกไว้ประดับในสระน้ำหรือปลูกไว้ในกระถางทรงสูง นิยมนำดอกตูมมาบูชาพระหรือนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอีกด้วย
7.ต้นหว้า
ชื่อวิทยาศาสตร์: Syzygium Cumini (L.) Skeels
วงส์ : Myrtaceae
ต้นหว้านี้เป็นต้นไม้ที่มีกล่าวถึงในพุทธประวัติ 2 ครั้งว่า เมื่อครั้งพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จไปทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญได้นำเจ้าชายสิทธัตถะขณะที่มีอายุราว 8 - 9 ขวบไปด้วยและให้ประทับใต้ต้นหว้าใหญ่ บรรดาพระพี่เลี้ยง ต่างก็พากันไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด พระกุมารจึงนั่งสมาธิด้วยพระทัยที่มีความเบิกบาน และบรรลุถึงปฐมฌาน ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นเหตุที่น่ามหัศจรรย์ คือแม้ว่าเวลานั้น ดวงอาทิตย์จะบ่ายคล้อยไปแล้ว แต่ร่มเงาของไม้หว้าก็ยังบดบังให้ความร่มเย็นแก่พระองค์โดยปรากฏเป็นปริมณฑลตรงพระเศียรอยู่ ประดุจเงาของดวงอาทิตย์ยามเที่ยง
และอีกวาระหนึ่ง คือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบทิฏฐิมานะของอุรเวลกัสสปะ พระพุทธองค์เสด็จไปยังต้นหว้าประจำชมพูทวีป ทรงเก็บผลหว้าประจำชมพูทวีปกลับมา ต้นหว้าเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 10-30 เมตร ลำต้นตรง กลุ่มใบเป็นพุ่มกลมหนา จึงมีร่มเงาที่ให้ความสงบเยือกเย็น มีผลเป็นลูกเล็กๆ สีม่วงและสีดำเมื่อสุกเต็มที่
8.ต้นไผ่ (เวฬุ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Poaceae (Bamboo)
วงศ์ : Gramineae หรือ Poaceae
ต้นไผ่ นับว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก คือในสมัยพุทธกาล มีสวนป่าไผ่ที่เป็นสวนที่ประพาสพักผ่อนส่วนพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองแคว้นมคธ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ เป็นที่ร่มรื่นสงบเงียบ มีทางไปมาสะดวก ภายหลังจากพระเจ้าพิมพิสารทรงฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ได้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระดำริหาที่ประทับให้พระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่าพระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสถานที่เหมาะสม จึงถวายเป็นสังฆาราม พระพุทธเจ้าได้ทรงรับการถวายวัดขึ้นเป็นครั้งแรก เวฬุวนารามจึงนับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
ไ๋ผ่ มีลักษณะเป็นพืชที่มีเนื้อไม้แข็ง ความสูงแล้วแต่ชนิด อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ขึ้นรวมกันเป็นกอใหญ่ มีเหง้าใต้ดินที่มีลักษณะแข็ง ลำต้นตรง มีข้อและปล้องชัดมีกาบแข็งสีฟางหุ้น มีตาที่ข้อ ปล้องกลวง ไผ่ที่มีลำต้นโตที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซ็นติเมตร ปล้องยาวประมาณ 60 เซ็นติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปหอกหรือรูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ขอบใบสาก มีขนทั่วไป ดอก ช่อยาวออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ผล ขนาดเล็กมาก มี 1 เมล็ด ไผ่ออกดอกแล้วต้นจะตาย
9.ต้นฝ้าย
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gossypium Barbabense L.
วงศ์ : Malvabense
ต้นฝ้ายมีความเกี่ยวข้องในพุทธประวัติ คือ ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จแวะเข้าไปประทับพักพระอิริยาบถอยู่ที่ไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง มีกลุ่มชายหนุ่มจำนวน 30 คน ชื่อกลุ่มภัททวัคคีย์ได้พากันเข้ามาที่ไร่ฝ้ายแห่งนี้ เพื่อเที่ยวตามหาหญิงสาวผู้หนึ่งที่ได้ขโมยเครื่องประดับหนีไป เมื่อทั้งหมดได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสถามเหล่าภัททวัคคีย์ว่า พวกท่านจะแสวงหาหญิงคนนั้นหรือแสวงหาตนเอง ? และทรงเทศนาอนุปุพพิกถา (เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ) จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาอริยสัจ 4 (คือความจริงอย่างประเสริฐมี 4 อย่าง คือ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค) กลุ่มภัททวัคคีย์ ทั้ง 30 คนได้มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุพระโสดาบันทั้งหมด แล้วกราบทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุทันที ส่วนอีกเหตุการณ์ของต้นฝ้ายคือ เมื่อเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งที่ 2 พระน้านางปชาบดีโคตรมี ได้ถวายผ้าสาฎกเนื้อดีจำนวน 2 ผืน ยาว 14 ศอก กว้าง 7 ศอกเสมอกัน มีพระอรรรถกถาจารย์ได้ระบุกล่าวว่า ผ้าฝ้ายทั้ง 2 ผืนนั้นมีสีเหลืองดังทอง โดยพระนางปลูกต้นฝ้ายเอง ฝ้ายออกดอกมาเป็นสีเหลืองหม่น เสร็จแล้วทอเองจนสำเร็จเป็นผืน แล้วใส่ผอบทองไปถวายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ ตรัสให้พระนางนำไปถวายพระสงฆ์ แต่ไม่มีสงฆ์รูปใดยอมรับอีก มีอยู่รูปเดียวที่เพิ่งบวชใหม่นั่งอยู่ท้ายแถว ยอมรับ ท่านมีนามว่า อชิตะ ยังเป็นพระปุถุชน แต่ในอนาคต พระอชิตะนี้ ซึ่งจะเสด็จมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ซึ่งจะมีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย หรือ
พระศรีอาริย์
ต้นฝ้ายเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีสีเขียวหรือสีน้ำตาล แตกกิ่งเป็น 2 แบบ คือ กิ่งใบ และกิ่งดอก โดยเกิดจากตาที่มุมใบ จำนวนกิ่งมีน้อย ฝ้ายจัดเป็นพืชไร่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมีการนำมาใช้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบจากเส้นใยชนิดอื่น ๆ
10. ต้นประดู่ลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dalbergia Sissoo Roxb. Ex. Dc.
วงศ์ : Legumigosae - Papilionoiceae
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาคือเมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากการเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดาแล้ว ได้พาพระอานนท์, พระราหุล พร้อมด้วยพระสงฆ์ ไปสู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน คือ ป่าไม้ประดู่ลาย เมืองโกสัมพี และ ณ ป่าไม้ประดู่ลายนี้เองที่เป็นสถานที่ที่ทรงสอนพระภิกษุทั้งหลายเรื่องใบไม้ในกำมือ กับ ใบไม้บนต้นคือ พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ถือเอาใบประดู่ลาย 2-3ใบ แล้วตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า ใบประดู่ลายในฝ่าพระหัตถ์กับที่อยู่บนต้น อย่างไหนมีมากกว่ากัน พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ใบประดู่ลายที่อยู่บนต้นนั้นมีมากกว่า
พระพุทธเจ้า ตรัสว่าใบไม้ในกำมือของพระองค์ ก็คือ ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้และทรงนำมาสั่งสอนในโลกเพื่อความพ้นทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ส่วนใบไม้นอกกำมือ ทั้งใบไม้บนต้นและยังมีใบไม้จำนวนมากมายเต็มผืนป่า ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก ภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นอสนะ” ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา แก่นสีน้ำตาล และมีริ้วสีดำแซม เรือนยอดเป็นพุ่มใหญ่โปร่ง ใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบย่อย 3-5 ใบ ใบย่อยมีรูปมนและป้อมหรือมนแบบรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบอ่อนมีขนนุ่ม แต่พอแก่ขนจะหลุดร่วงไป ดอกสีเหลืองอ่อนๆ ปนขาว ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบตามกิ่ง เมื่อออกดอกใบจะร่วงหมด เกสรผู้มี 9 อัน รังไข่รูปยาวรีๆ และจะยาวกว่าหลอดท่อรังไข่ ฝักรูปบันทัดแคบๆ ปลายฝักแหลม แต่ละฝักมีเมล็ด 1-3 เมล็ด
นอกจากต้นไม้สำคัญ 10 ชนิดข้างต้นแล้ว ยังมีต้นไม้พิเศษอีกต้นหนึ่ง คือ ต้นปาริฉัตร หรือปาริชาติ หรือต้นทองหลาง ที่กล่าวกันว่าเป็นดอกไม้อิมพอร์ตจากดาวดึงส์เลยทีเดียว
ชื่อวิทยาศาสตร์: Erythrina variegata L.
วงศ์ : Leguminosae - Papilionoiceae
ปาริฉัตรหรือปาริชาตินี้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แม้จะไม่ได้จัดอยู่ใน 1 ใน 10 ต้นไม้ในพุทธประวัติของผู้เรียบเรียง เพราะเป็นต้นไม้อิมพอร์ตจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่นับเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญทางพุทธประวัติ คือ เป็นชื่อต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นที่ 2 คือ ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวนนันทวัน ของพระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวาธิราช จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ 7 ภายหลังพระพุทธองค์ตรัสรู้ ทรงเสด็จประทับภายใต้ร่มไม้ปาริฉัตรหรือ ปาริชาติ ณ ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอด 3 เดือนพระพุทธมารดาได้ทรงบรรลุพระโสดาบัน ส่วนเหล่าทวยเทพเทวดาในโลกธาตุที่มาประชุมฟังธรรมบรรลุมรรคผลกันนับไม่ถ้วน สุดที่จะประมาณ ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ต้นปาริชาติในดาวดึงส์ ทุกๆ 100 ปีจะบาน 1 ครั้ง และเมื่อดอกไม้สวรรค์นี้บานสะพรั่งเต็มที่ เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างพากันดีใจ เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 บำรุงบำเรออยู่ตลอดระยะ 5 เดือนทิพย์ ณ ใต้ต้นปาริชาติ ซึ่งเมื่อบานเต็มที่แล้ว แผ่รัศมีไปได้ 50 โยชน์ ในบริเวณรอบๆ และจะส่งกลิ่นไปได้ 100 โยชน์ตามลม
มีอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ นำเอาผลปาริฉัตรกลับมา เพื่อแสดงปาฏิหาริย์ปราบดาบส 3 พี่น้อง ส่วนอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงช่วงที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เทวดาทั้งหลายได้ถวายดอกปาริฉัตรเป็นพุทธบูชา ส่วนปาริชาติในโลกมนุษย์นี้ ก็คือต้นทองหลางนั่นเอง เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามกิ่งหรือลำต้นอ่อนมีหนาม แหลมคม แต่จะค่อยๆ หลุดไป เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ใบหนา ดอกคล้ายดอกแค แต่มีสีแดงเข้มออกรวมกัน เป็นช่อยาวประมาณ 30-40 ซม.
ตลอดระยะเวลาในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลือกใช้สถานที่ ๆ เป็นปฏิรูปเทส คือสถานที่อันเหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยมากพระพุทธองค์ทรงใช้สถานที่ธรรมชาติเป็นที่ทำกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น สถานที่ตรัสรู้คือใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ แคว้นมคธ และแม้การแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปวัตตนสูตรให้กับพระปัญจวัคย์ก็แสดงธรรม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน, สถานที่ทรงประกาศธรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาคือโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ในวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันซึ่งก็เป็นสวนไผ่ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละ เป็นต้น
เราจึงพบได้ว่า วิถีชีวิตของพระพุทธองค์ตลอดถึงพุทธบริษัท 4 ทั้งหลาย ล้วนเกี่ยวข้องความสัมพันธ์กับป่า, ต้นไม้และธรรมชาติ ทำให้ช่วงสมัยพุทธกาล การเรียนการสอนอบรมธรรมะและบรรลุธรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะอยู่ในป่าและธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจริญสมาธิภาวนาและการบำเพ็ญสมณธรรม สถานที่อันร่มรื่นและสงบ อุทยาน, ป่าเขาลำเนาไพร, เงื้อมถ้ำเขา ล้วนเป็นสถานที่ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติเจริญสมณธรรม ดังนั้น สถานที่ ๆ เหมาะสมกับการสร้างบารมี นอกจากมีโบสถ์วิหาร, ห้องปฏิบัติธรรมและอาคารสถานที่เป็นที่สบายแล้ว ยังต้องมีบรรยากาศอันน่ารื่นรมย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการบรรลุธรรม ต้นไม้, สวนดอกไม้, อุทยานป่าไม้อันเกื้อกูลต่อการสร้างบารมีทุกแห่งในโลก จึงอยู่ในฐานะที่ตั้งแห่งการสร้างบุญบารมีของเรา ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย มีเทวดาทูลถามว่า
"ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์ ? พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
"ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้ (ใช้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์"
ที่มา:
1. วนโรปสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค,
2. พุทธประวัติ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา
3. ต้นไม้ในพุทธประวัติ ส่วนผลิตกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า
4. เวบไซต์บ้านและสวน
Cr : IPeace Meditation Centre
ไม่มีความคิดเห็น